Translate

หน้าเว็บ

30 กันยายน 2561

การ ปฐมพยาบาล เบื้องต้น

การ ปฐมพยาบาล เบื้องต้น

การปฐมพยาบาลเบื้องต้น

การปฐมพยาบาล หมายถึง การช่วยเหลือผู้ป่วยหรือผู้บาดเจ็บเป็นการฉุกเฉิน ก่อนที่จะได้รับการรักษาทางการแพทย์  การปฐมพยาบาลจึงเป็นการช่วยเหลือชั่วคราวระหว่างรอคอยการรักษาจากแพทย์ ในรายที่บาดเจ็บรุนแรง การปฐมพยาบาลอาจเป็นสิ่งที่ช่วยให้ผู้ป่วยเจ็บรอดชีวิตได้

จุดมุ่งหมายของการปฐมพยาบาล
1.เพื่อช่วยชีวิตยามฉุกเฉิน
2. เพื่อป้องกันไม่ให้บาดเจ็บหรือได้รับอันตรายมากขึ้น
3. เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดสิ่งแทรกซ้อนภายหลัง
สิ่งสำคัญในการปฐมพยาบาล
               ผู้ที่จะทำการปฐมพยาบาล ถ้าไม่มีความรู้และประสบการณ์ เวลาประสบเหตุอาจตื่นเต้น ทำอะไรไม่ถูก นอกจากนั้นขณะเกิดเหตุอาจมีอันตรายจากสิ่งแวดล้อม เช่น อยู่ระหว่างปฏิบัติการทางทหาร หรือเรือถูกพายุ อุปกรณ์เครื่องใช้อาจสูญหายไป ทำให้การปฏิบัติเป็นไปด้วยความยุ่งยาก  ดังนั้นจำเป็นต้องเรียนรู้หลักการให้ถูกต้อง และฝึกฝนจนมีความชำนาญ จึงจะปฏิบัติการจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

หลักการทั่วไปที่ต้องปฏิบัติเมื่อพบผู้ป่วยเจ็บ
               1. อย่าตื่นตกใจ ให้ตั้งสติตนเองให้มั่นคง พยายามปฏิบัติให้ดีที่สุด ด้วยอุปกรณ์ที่มีอยู่หรือหาได้
               2. ให้ผู้ป่วยเจ็บนอนราบศีรษะอยู่ระดับเดียวกับตัว อย่าเคลื่อนไหวผู้ป่วยเจ็บโดยไม่จำเป็น  จัดให้นอนศีรษะต่ำเมื่อหน้าซีด หรือยกศีรษะขึ้นเล็กน้อยเมื่อหน้าแดง
               3. ตรวจดูการบาดเจ็บอย่างรวดเร็ว  ที่สำคัญที่สุดคือดูว่ามีการหยุดหายใจหรือเปล่า  หรือมีการตกเลือดรุนแรงหรือไม่ เพราะจะทำให้เสียชีวิตในเวลาอันรวดเร็วได้  หลังจากนั้นจึงค่อยตรวจดูการบาดเจ็บอย่างอื่น สำหรับการถอดเสื้อผ้าให้ทำเท่าที่จำเป็นและรบกวนผู้ป่วยเจ็บให้น้อยที่สุด
               4. ทำการปฐมพยาบาลสิ่งที่เป็นอันตรายต่อชีวิตก่อน ถ้ามีการไม่หายใจหรือหัวใจหยุดเต้น ต้องแก้ไขก่อน ถ้ามีการตกเลือดรุนแรงก็ทำการห้ามเลือดก่อน แล้วจึงป้องกันและรักษาช็อค  กรณีที่ไม่มีสิ่งผิดปกติดังกล่าวให้รักษาความอบอุ่นของร่างกาย นอนนิ่ง ๆ และให้มีอากาศปลอดโปร่ง
               5. ปลดคลายเสื้อผ้าที่คับหรือรัดออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่บริเวณคอ  อก ท้อง และขา
               6. ป้องกันไม่ให้เกิดการสำลัก  ถ้ามีการอาเจียนให้พลิกหน้าผู้ป่วยเจ็บตะแคงไปด้านใดด้านหนึ่ง เพื่อให้สิ่งที่อาเจียนไหลออกจากปากได้สะดวก  ถ้าหมดสติ อย่าให้ผู้ป่วยเจ็บดื่มน้ำหรือยา
              7. ให้จิบน้ำได้เล็กน้อยถ้าผู้ป่วยเจ็บรู้สึกตัว จะทำให้สดชื่นขึ้น  กรณีที่มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน อย่าให้สิ่งใดทางปากโดยเด็ดขาด เพราะอาจมีการบาดเจ็บที่กระเพาะอาหารหรือลำไส้ จะทำให้มีอันตรายมากขึ้น
               8. ถ้าต้องการกระตุ้นผู้ป่วยเจ็บ อย่าใช้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาจทำให้เกิดผลเสียบางอย่างได้ เช่น อาจทำให้มีการตกเลือดใหม่ได้  น้ำชาหรือกาแฟร้อน ๆ เป็นสิ่งกระตุ้นที่ดี เพราะมีคาเฟอีน เป็นสารกระตุ้นกระแสเลือดได้ และความร้อนยังช่วยให้ร่างกายอบอุ่น

มีเหตุฉุกเฉิน  4 ประการ
ที่จะทำให้ผู้ป่วยเจ็บเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว หากไม่ได้รับการปฐมพยาบาลทันที ได้แก่
1. การหยุดหายใจ  ทำให้ร่างกายขาดออกซิเจน และจะเสียชีวิตภายในไม่กี่นาที ผู้ปฐมพยาบาลจึงต้องรู้วิธีการผายปอด  ซึ่งวิธีที่ง่ายและได้ผลดีที่สุด คือ การเป่าลมหายใจเข้าปอดทางปากหรือจมูก
2. หัวใจหยุดเต้น  ทำให้ไม่มีการสูบฉีดเลือด สำหรับนำออกซิเจนไปเลี้ยงร่างกายทั่วไป  ผู้ปฐมพยาบาล จำเป็นจะต้องรู้วิธีสำหรับแก้ไขทำให้มีกระแสเลือดไหลเวียนในร่างกาย คือ การนวดหัวใจภายนอก (closed chest or external massage)
3. การเสียเลือดจากหลอดเลือดใหญ่ ๆ ขาด  ทำให้เลือดไหลออกจากร่างกายอย่างรวดเร็ว และจะทำให้เสียชีวิต  ผู้ปฐมพยาบาลจึงต้องรู้วิธีการห้ามเลือด
4. ภาวะช็อค   เป็นการตอบสนองของศูนย์ประสาทส่วนกลางในสมองของร่างกาย ที่ถูกกระตุ้นด้วยความรู้สึกที่ส่งมาจากตำแหน่ง เป็นสิ่งที่ซับซ้อนต่อการบาดเจ็บ อาจมีความกลัวและความตกใจ ร่วมด้วย ภาวะช็อคจะมีความรุนแรงมากถ้ามีการสูญเสียเลือดหรือน้ำเหลือง (ในรายมีแผลไหม้)  ช็อคอาจทำให้เสียชีวิตได้ทั้งที่บาดเจ็บไม่รุนแรงนัก ดังนั้นผู้ปฐมพยาบาลจึงต้องรู้วิธีการป้องกันและรักษาช็อค


การปฐมพยาบาลเมื่อมีแมลงและสัตว์มีพิษกัดต่อย
1.  แมลง
แมลงหลายชนิดมีเหล็กใน  เช่น  ผึ้ง  ต่อ  แตน  เป็นต้น  เมื่อต่อยแล้วมักจะทิ้งเหล็กในไว้  ภายในเหล็กในจะมีพิษของแมลงพวกนี้มักมีฤทธิ์ที่เป็นกรด  บริเวณที่ถูกต่อยจะบวมแดง  คันและปวด  อาการปวดจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับบริเวณที่ต่อยและสภาพร่างกายของแต่ละบุคคล
วิธีปฐมพยาบาล
1.  พยายามเอาเหล็กในออกให้หมด  โดยใช้วัตถุที่มีรู  เช่น  ลูกกุญแจ  กดลงไปตรงรอยที่ถูกต่อย  เหล็กในจะโผล่ขึ้นมาให้คีบออกได้
2.  ใช้ผ้าชุบน้ำยาที่ฤทธิ์ด่างอ่อน  เช่น  น้ำแอมโมเนีย  น้ำโซดาไบคาบอร์เนต  น้ำปูนใส  ทาบริเวณแผลให้ทั่วเพื่อฆ่าฤทธิ์กรดที่ค้างอยู่ในแผล
3.  อาจมีน้ำแข็งประคบบริเวณที่ถูกต่อยถ้าแผลบวมมาก
4.  ถ้ามีอาการปวดให้รับประทานยาแก้ปวด  ถ้าคันหรือผิวหนังมีผื่นขึ้นให้รับประทานยาแก้แพ้
5.  ถ้าอาการไม่ทุเลาลง  ควรไปพบแพทย์

2.  แมงป่องหรือตะขาบ
ผู้ที่ถูกแมงป่องต่อยหรือตะขาบกัด  จะมีอาการเจ็บปวดมากกว่าแมลงชนิดอื่น  เพราะแมงป่องและตะขาบมีพิษมากกว่า บางคนที่แพ้สัตว์ประเภทนี้อาจมีอาการปวดและบวมมาก  มีไข้สูง  คลื่นไส้  บางคนมีอาการเกร็งของกล้ามเนื้อและมีอาการชักด้วย
 วิธีปฐมพยาบาล
1.  ใช้สายรัดหรือขันชเนาะเหนือบริเวณเหนือบาดแผล  เพื่อป้องกันไม่ให้พิษแพร่กระจายออกไป
2.  พยายามทำให้เลือดไหลออกจากบาดแผลให้มากที่สุด  อาจทำได้หลายวิธี  เช่น  เอามือบีบ  เอาวัตถุที่มีรูกดให้แผลอยู่ตรงกลางรูพอดี  เลือดจะได้พาเอาพิษออกมาด้วย
3.  ใช้แอมโมเนียหอมหรือทิงเจอร์ไอโอดี 2.5%  ทาบริเวณแผลให้ทั่ว
4.  ถ้ามีอาการบวม  อักเสบและปวดมาก  ใช้ก้อนน้ำแข็งประคบบริเวณแผล  เพื่อช่วยบรรเทาความเจ็บปวดด้วย
5.  ถ้าอาการยังไม่ทุเลาลง  ต้องรีบนำส่งแพทย์

3.  แมงกะพรุนไฟ
แมงกะพรุนไฟเป็นสัตว์ทะเลชนิดหนึ่ง  ซึ่งมีสารพิษอยู่ที่หนวดของมัน  แมงกะพรุนไฟมีสีน้ำตาล  เมื่อคนไปสัมผัสตัวมันจะปล่อยพิษออกมาถูกผิวหนัง  ทำให้ปวดแสบปวดร้อนมาก  ผิวหนังจะเป็นผื่นไหม้  บวมพองและแตกออก  แผลจะหายช้า  ถ้าถูกพิษมากๆ  จะมีอาการรุนแรงถึงกับเป็นลมหมดสติและอาจถึงตายได้
วิธีการปฐมพยาบาล
1.  ใช้ผ้าเช็ดตัวหรือทรายขัดถูบริเวณที่ถูกพิษแมงกะพรุนไฟ  เพื่อเอาพิษที่ค้างอยู่ออกหรือใช้ผักบุ้งทะเลซึ่งหาง่ายและมีอยู่บริเวณชายทะเล  โดยนำมาล้างให้สะอาด  ตำปิดบริเวณแผลไว้
2.  ใช้น้ำยาที่มีฤทธิ์เป็นด่าง  เช่น  แอมโมเนียหรือน้ำปูนใส  ชุบสำลีปิดบริเวณผิวหนังส่วนนั้นนานๆ  เพื่อฆ่าฤทธิ์กรดจากพิษของแมงกะพรุน
3.  ให้รับประทานยาแก้ปวด
4.  ถ้าอาการยังไม่ทุเลาลง  ให้รีบนำส่งแพทย์โดยเร็ว

 4.  งู
ประเทศไทยมีงูหลายชนิด  มีทั้งงูพิษและงูไม่มีพิษ  งูพิษร้ายแรงมีอยู่ 7 ชนิด  คือ  งูเห่า  งูจงอาง  งูแมวเซา  งูกะปะ  งูสามเหลี่ยม  งูเขียวหางไหม้  และงูทะเล  พิษของงูมีลักษณะเป็นสารพิษ  งูแต่ละชนิดมีลักษณะของสารไม่เหมือนกัน  เมื่อสารพิษนี้เข้าไปสู่ร่างกายแล้วสามารถซึมผ่านเข้าไปในกระแสเลือดที่ไปเลี้ยงตามส่วนต่างๆ  เกิดขึ้นในร่างกายไม่เหมือนกัน  ซึ่งสามารถแบ่งลักษณะงูพิษได้ 3 ประเภท
ลักษณะบาดแผลที่ถูกงูพิษและงูไม่มีพิษกัด
                งูพิษมีเขี้ยวยาว 2 เขี้ยว  อยู่ด้านหน้าของขากรรไกรบนมีลักษณะเป็นท่อปลายแหลมเหมือนเข็มฉีดยา  มีท่อต่อมน้ำพิษที่โคนเขี้ยว  เมื่องูกัดพิษงูจะไหลเข้าสู่ร่างกายทางรอยเขี้ยว
                ส่วนงูไม่มีพิษจะไม่มีเขี้ยว  มีแต่ฟันธรรมดาแหลมๆ  เล็กๆ  เวลากัดจึงไม่มีรอยเขี้ยว
วิธีปฐมพยาบาล
 เมื่อแน่ใจว่าถูกงูกัด  ให้ทำการปฐมพยาบาลอย่างสุขุมรอบคอบรัดกุม  อย่าตกใจ  ให้รีบสอบถามลักษณะงูที่กัดจากผู้ป่วยและรีบทำการปฐมพยาบาลตามลำดับ  ดังนี้
1.  ใช้เชือก  สายยาง  สายรัด  หรือผ้าผืนเล็กๆ  รัดเหนือแผลประมาณ 5-10 เซนติเมตร  โดยให้บริเวณที่ถูกรัดอยู่ระหว่างแผลกับหัวใจ  รัดให้แน่นพอสมควร  แต่อย่าให้แน่นจนเกินไป  พอให้นิ้วก้อยสอดเข้าได้  เพื่อป้องกันไม่ให้พิษงูเข้าสู่หัวใจโดยรวดเร็ว  และควรคลายสายที่รัดไว้  ควรใช้สายรัดอีกเส้นหนึ่งรัดเหนืออวัยวะที่ถูกงูกัดขึ้นไปอีกเปลาะหนึ่ง  เหนือรอยรัดเดิมเล็กน้อยจึงค่อยคลายผ้าที่รัดไว้เดิมออก  ทำเช่นนี้ไปจนกว่าจะได้ฉีดยาเซรุ่ม
2.  ล้างบาดแผลด้วยน้ำด่างทับทิมแก่ๆ  หลายๆ  ครั้ง  และใช้น้ำแข็งหรือถุงน้ำแข็งประคบหรือวางไว้บนบาดแผล พิษงูจะกระจายเข้าสู่ร่างกายได้ช้าลง
3.  ให้ผู้ป่วยนอนอยู่ในท่าที่บาดแผลงูพิษกัดอยู่ต่ำกว่าระดับหัวใจ นอนอยู่นิ่งๆ  เคลื่อนไหวร่างกายให้น้อยที่สุด  เพื่อไม่ให้พิษงูกระจายไปตามร่างกาย  และควรปลอบใจให้ผู้ป่วยสบายใจ
4.  ไม่ควรให้ผู้ป่วยเสพของมึนเมา  เช่น  กัญชา  สุรา  น้ำชา  กาแฟ  เพราะจะทำให้หัวใจเต้นแรง  อาจทำให้พิษงูกระจายไปทั่วร่างกายเร็วขึ้น
5.  รีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด  ถ้านำงูที่กัดไปด้วยหรือบอกชื่องูที่กัดได้ด้วยยิ่งดี  เพราะจะทำให้  เลือกเซรุ่มแก้พิษงูได้ตรงตามพิษงูที่กัดได้ง่ายยิ่งขึ้น

การป้องกันงูพิษกัด
1.  ถ้าต้องออกจากบ้านเวลากลางคืนหรือต้องเดินทางเข้าไปในป่าหรือทุ่งหญ้าหรือในที่รก  ควรสวมรองเท้าหุ้มส้นหรือรองเท้าหุ้มข้อและสวมกางเกงขายาว
 2.  ควรหลีกเลี่ยงการเดินทางไปในที่รกเวลากลางคืนหรือเดินทางไปในเส้นทางที่น่าจะเป็นที่อยู่อาศัยหรือที่หากินของงู  ถ้าจำเป็นควรมีไฟส่องทางและควรใช้ไม้แกว่งไปมาให้มีเสียงดังด้วย  แสงสว่างหรือเสียงดังจะทำให้งูตกใจหนีไปที่อื่น
3.  หากจำเป็นต้องเดินทางไปในที่มีงูชุกชุมหรือเดินทางไปในที่ซึ่งมีโอกาสได้รับอันตรายจากงูกัด  ควรระมัดระวังเป็นพิเศษและควรเตรียมอุปกรณ์ปฐมพยาบาลติดมือไปด้วย
4.  เวลาที่งูออกหากินคือเวลาที่พลบค่ำและเวลาที่ฝนตกปรอยๆ  ที่ชื้นแฉะ  งูชอบออกหากินกบและเขียด  ในเวลาและสถานที่ดังกล่าว  ควรระมัดระวังเป็นพิเศษ
 5.  ไม่ควรหยิบของหรือยื่นมือเข้าไปในโพรงไม้ ในรู ในที่รก กอหญ้า หรือกองไม้  เพราะงูพิษอาจอาศัยอยู่ในที่นั้น

การปฐมพยาบาลผู้ป่วยเป็นลม
การเป็นลมแดด
สาเหตุ เกิดจากสมองมีเลือดไปเลี้ยงมากเกินไป  ซึ่งอาจเนื่องมาจากอยู่กลางแดดนานเกินไปหรือดื่มสุราขณะที่อากาศร้อนจัด  เป็นต้น
อาการ ใบหน้าและนัยน์ตาแดง เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน กระหายน้ำ          หายใจถี่  ชีพจรเต้นเร็วและเบา ผิวหนังและใบหน้าแห้ง  ตัวร้อน  ถ้าเป็นมากอาจจะมีอาการชักและหมดสติได้

วิธีการปฐมพยาบาล
1.  รีบนำผู้ป่วยเข้าในร่มที่ใกล้ที่สุด
2.  ให้ผู้ป่วยนอนหงายแล้วยกศีรษะให้สูงกว่าลำตัว
3.  อย่าให้แอมโมเนียหรือยากระตุ้นหัวใจ  เพราะจะกระตุ้นให้เลือดไปเลี้ยงสมองมากขึ้น
4.  ขยายเสื้อผ้าของผู้ป่วยให้หลวม  เพื่อให้เลือดหมุนเวียนได้สะดวก
5.  เมื่อผู้ป่วยรู้สึกตัวแล้วและร่างกายเย็นมาก  ให้เอาผ้าห่อคลุมตัวให้อบอุ่นและหาเครื่องดื่มร้อนๆ  ให้ดื่มเพื่อให้ความอบอุ่นร่างกาย

6.  ถ้าผู้ป่วยยังไม่รู้สึกตัวให้รีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว

ไม่มีความคิดเห็น:

เครื่องแบบลูกเสือ การแต่งเครื่องแบบลูกเสือ กางเกง  ชายกางเกงขาสั้น ผ้าผูกคอ     ใช้ผ้าผูกคอตามสังกัด   (เช่น ลูกเสือเขตการศึกษา 8  เช...

ค้นหาบล็อกนี้