ขั้นตอนวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการตรวจขั้นที่ 5
(ขั้นปฏิบัติการและประเมินผล)
******************************************************
เพื่อให้ผู้ที่จะขอรับการตรวจขั้นที่ 5 ได้ดำเนินการตามขั้นตอน และนำไปใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาการจัดกิจกรรมลูกเสือในสถานศึกษา
1. การปฏิบัติการก่อนที่จะขอให้ผู้ทรงคุณวุฒิมาตรวจ
1.1 เมื่อผู้บังคับบัญชาที่ได้ผ่านการฝึกอบรมขั้นที่ 4 ( A.T.C. ) มาแล้ว ให้นำความรู้และทักษะที่ได้รับจากการฝึกอบรม ไปดำเนินการในกองลูกเสือของตน เป็นเวลาอย่างน้อย 4 เดือน นับจากวันสิ้นสุดการฝึกอบรมขั้นความรู้ชั้นสูง ( A.T.C. )
1.2 เมื่อครบเวลา 4 เดือนแล้ว และผู้บังคับบัญชานั้นรู้สึกตัวว่าพร้อมที่จะได้รับการตรวจขั้นที่ 5 ได้แล้ว ให้เสนอรายงานตามลำดับชั้นจนถึงผู้บังคับบัญชาต้นสังกัด ขอให้กรรมการผู้ทรง คุณวุฒิมาตรวจและประเมินผลการปฏิบัติงาน โดยแนบหลักฐานคือ แบบ ลส.13 และวุฒิบัตรการผ่านการฝึกอบรมขั้นความรู้ชั้นสูง ( A.T.C. )
1.3 การเสนอรายงานขอให้มีการตรวจขั้นที่ 5 ขั้นปฏิบัติการและประเมินผล จะต้องดำเนินการภายในกำหนดเวลา 2 ปี นับจากวันสิ้นสุดการฝึกอบรมขั้นความรู้ชั้นสูง ( A.T.C. )
2. การเตรียมการเพื่อรับการตรวจ
2.1 ต้องฝึกอบรมลูกเสือในกองของตนไว้ให้พร้อม
2.2 เตรียมงานด้านธุรการไว้ให้เรียบร้อย เช่น เอกสารหลักฐาน ใบสำคัญต่างๆให้เป็นปัจจุบัน
2.3 เตรียมสนามฝึก อุปกรณ์การฝึกอบรม เสาธงประชุมกอง หีบอุปกรณ์ ไม้พลอง ไม้ง่ามเชือก รอก ไม้ทูนศีรษะ เชือกกระโดด ลูกบอล ฯลฯ
2.4 เตรียมฝึกระเบียบแถว การสวนสนาม (สำหรับลูกเสือสามัญ สามัญรุ่นใหญ่ และวิสามัญ)การประชุมนายหมู่ (เตรียมพร้อมที่จะสาธิตให้ผู้ทรงคุณวุฒิประเมินด้วย)
3. คุณสมบัติของผู้รับการตรวจ
3.1 บุคคลนั้นต้องผ่านการฝึกอบรม ขั้นที่ 1 , 2 , 3 และ 4 มาแล้วไม่น้อยกว่า 4 เดือน และไม่เกิน 2 ปี นับจากวันสิ้นสุดการฝึกอบรมขั้นความรู้ชั้นสูง ( A.T.C. )
3.2 เป็นบุคคลที่มีกองลูกเสือเป็นของตนเอง หากมีลูกเสือจำนวน 2 หมู่ขึ้นไป ต้องขอจัดตั้งกองลูกเสือ ในโรงเรียนของตนเอง หรือไปช่วยฝึกลูกเสือในกองลูกเสืออื่นเป็นประจำ ในกรณีที่ไม่สามารถตั้งกองลูกเสือได้ หรือโรงเรียนไม่มีการจัดกิจกรรมลูกเสือในประเภทที่ไปเข้ารับการฝึกอบรมขั้นความรู้ชั้นสูง ( A.T.C. ) มา หรือผู้มีหน้าที่ควบคุมกองลูกเสือตามสังกัด
3.3 เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางลูกเสืออยู่ในปัจจุบัน โดยมีใบแต่งตั้งให้มีตำแหน่งทางลูกเสือตามแบบ ลส.13 เป็นหลักฐาน (ต้องมีตำแหน่งอยู่ในกองลูกเสือที่จะขอรับการตรวจขั้นที่ 5)
4. การขอให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมาตรวจ
4.1 นำเสนอให้ผู้บังคับบัญชา ทำหนังสือในนามของโรงเรียน ถึงผู้อำนวยการลูกเสืออำเภอ (นำเสนอผ่านผู้อำนวยการโรงเรียน ที่ผู้อำนวยการลูกเสืออำเภอคัดเลือกให้ทำหน้าที่เลขาธิการคณะกรรมการลูกเสืออำเภอ) ผู้อำนวยการลูกเสืออำเภอ ทำหนังสือถึงผู้อำนวยการลูกเสือเขตพื้นที่การศึกษา (ปฏิบัติราชการแทน ผู้อำนวยการลูกเสือจังหวัด) ขอให้ส่งผู้ทรงคุณวุฒิมาตรวจขั้นที่ 5 เป็นการล่วงหน้าอย่างน้อย 15 วัน ก่อนถึงวันให้ไปทำการตรวจ ในหนังสือนั้นให้ระบุไว้ด้วยว่า พร้อมที่จะให้ ไปตรวจในวันใด หรือช่วงเวลาใด
4.2 ผู้อำนวยการลูกเสือเขตพื้นที่การศึกษา ประสานงานนัดหมายกับผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับการแต่งตั้งแล้ว คนใดคนหนึ่งหรือหลายคน ให้เป็นผู้ไปทำการตรวจตามวันหรือช่วงเวลาที่มีผู้ขอมา (ในการนี้จะนัดวันที่จะไปดำเนินการตรวจที่แน่นอน)
5. ลำดับขั้นตอนการตรวจ มีดังต่อไปนี้
1. งานด้านธุรการของกอง
1.1 ทะเบียนลูกเสือ ได้จัดทำไว้ถูกต้องและเป็นปัจจุบันหรือไม่
1.2 หลักฐานการสอบไล่หรือสอบวิชาพิเศษลูกเสือ ได้ทำไว้เรียบร้อยเพียงไร
1.3 หลักฐานการเงิน การบัญชี บัญชีทรัพย์สินของกองลูกเสือ ได้จัดทำไว้เรียบร้อยอย่างไร
1.4 สมุดบันทึกการประชุมผู้บังคับบัญชาลูกเสือ มีหรือไม่ มีการมอบหมายหน้าที่รับผิดชอบกันอย่างไร ตลอดจนการประชุมนายหมู่มีหรือไม่ และเรียบร้อยเพียงไร
1.5 สมุดบันทึกการประชุมกองของผู้บังคับบัญชามีครบทุกคนหรือไม่ ต้องมีบันทึกการประชุมกอง มาแล้วไม่น้อยกว่า 16 ครั้ง เป็นอย่างน้อย
1.6 สมุดหมายเหตุรายวันของกองได้จัดทำขึ้นหรือไม่ และเรียบร้อยเป็นปัจจุบันเพียงใด
1.7 สมุดประวัติของกองลูกเสือ ได้จัดทำขึ้นหรือไม่ และเรียบร้อยเป็นปัจจุบันเพียงใด โดยให้มีประวัติของกองลูกเสือนั้นไว้ว่า กองลูกเสือกองนี้ จัดตั้งขึ้นเมื่อไร ใครเป็นผู้กำกับคนแรก ใครเป็นรอง ผู้กำกับ มีจำนวนลูกเสือครั้งแรกกี่คน ปัจจุบันเป็นอย่างไร
1.8 เอกสารที่จำเป็นต้องนำเสนอให้ตรวจ ใบสมัครเข้าเป็นลูกเสือ ลส.3 , ใบอนุญาตตั้งกองลูกเสือ ลส.12 , ใบอนุญาตตั้งกลุ่มลูกเสือ ลส.11 , ใบแต่งตั้งผู้กำกับและรองผู้กำกับลูกเสือ ลส.13 และใบเสร็จรับเงิน ลูกเสือ ลส.19
1.9 งานสารบรรณของกอง การเก็บเรื่องต่างๆ ได้ปฏิบัติถูกต้องตามระเบียบแผนหรือไม่
2. งานด้านวิชาการ
2.1 ให้ผู้รับการตรวจขั้นที่ 5 สาธิตการฝึกอบรมลูกเสือตามประเภทลูกเสือที่ขอรับการตรวจให้ผู้ตรวจดู 1 ครั้ง โดยเริ่มจากพิธีเปิดประชุมกอง จนถึงพิธีปิดประชุมกอง ใช้เวลาไม่น้อยกว่า 60 นาที
ในการสาธิตการฝึกอบรมนี้ ผู้ตรวจจะต้องตรวจดูอย่างละเอียดว่า ผู้รับการตรวจปฏิบัติถูกต้องตามขั้นตอนที่บันทึกในแผนการประชุมกองหรือไม่ อย่างไร
2.2 สมุดสะสม (เฉพาะลูกเสือสำรอง) ตรวจสมุดสะสมของกองลูกเสือสำรองอย่างน้อย หมู่ละ 1 เล่ม
2.3 การสวนสนาม (เฉพาะลูกเสือสามัญ สามัญรุ่นใหญ่ และวิสามัญ) ตรวจดูความถูกต้องของการจัดขบวนสวนสนาม เครื่องแบบ ระเบียบวินัย การสั่งแถว ความสง่าผ่าเผย เป็นอย่างไร
2.4 การฝึกระเบียบแถว (เฉพาะลูกเสือสำรอง)
2.5 การสาธิตการประชุมนายหมู่ (เฉพาะลูกเสือสามัญ สามัญรุ่นใหญ่ และวิสามัญ) ปฏิบัติได้ถูกต้องหรือไม่เพียงไร การสวนสนามและการประชุมนายหมู่ ให้ใช้เวลาปฏิบัติให้ดูอย่างน้อย กิจกรรมละ 15 นาที
3. การสัมภาษณ์
ผู้ทรงคุณวุฒิ จะดำเนินการสัมภาษณ์ผู้ขอรับการตรวจขั้นที่ 5 อย่างน้อยคนละ 10 ข้อ
6. การรายงานผลการตรวจขั้นที่ 5
เมื่อผู้ทรงคุณวุฒิไปตรวจขั้นที่ 5 ให้แก่ผู้บังคับบัญชาลูกเสือคนใดเสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้รายงานผล การตรวจเสนอผู้บังคับบัญชาที่มอบหมายให้ไปตรวจพิจารณา และเสนอผลการตรวจ ขึ้นไปตามลำดับขั้น จนถึงเลขาธิการคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติเพื่ออนุมัติ
แหล่งอ้างอิง
- เอกสารการนิเทศทางไกล กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ปีที่ 1 ฉบับที่ กันยายน พ.ศ. 2549 โดย ขจรเกียรติ เครือประดับ ศึกษานิเทศก์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประจวบคีรีขันธ์ เขต 1
- คณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ, สำนักงาน. คู่มือการฝึกอบรมวิชาผู้กำกับลูกเสือ
สามัญรุ่นใหญ่ขั้นความรู้ชั้นสูง. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว. พ.ศ.2540
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น