Translate

หน้าเว็บ

23 ธันวาคม 2561

หลักและเทคนิคการเขียนโครงการ

ในสมัยที่ปฏิบัติงานราชการที่ สำนักนโยบายและแผนการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม (ปัจจุบัน สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์) ได้เขียนเนื้อหาเกี่ยวกับ "หลักและเทคนิคการเขียนโครงการ" ที่ได้จากครูพักลักจำ และนำมาใช้ในงาน ...จึงขอเผยแพร่ใน Facebook เผื่อเป็นประโยชน์บ้างครับ
---------------------------------------------
หลักและเทคนิคการเขียนโครงการ
ความหมาย
-คือ กลุ่มกิจกรรมที่จัดให้มีขึ้นเป็นครั้งคราว มีระยะเวลากำหนดที่แน่นอน .
กระบวนการก่อนวางโครงการ (เช่นเดียวกับการวางแผน)
1. ปัญหาความต้องการ
2. รวบรวมข้อมูล
3. วิเคราะห์ปัญหา
4. จัดลำดับความสำคัญของปัญหา/คัดเลือกปัญหา
5. วิเคราะห์สาเหตุ
6. กำหนดวัตถุประสงค์เป้าหมาย
7. กำหนดกิจกรรม/ทรัพยากร
8. วางโครงการ
องค์ประกอบของโครงการ (แบบฟอร์มการเขียนโครงการ)
1.ชื่อแผนงาน.........................................................
(เป็นการกำหนดชื่อให้คลอบคลุมโครงการเดียว หรือหลายโครงการ ที่มีลักษณะงานไปในทิศทางเดียวกันเพื่อแก้ไขปัญหาหรือสนองวัตถุประสงค์หลัก ที่กำหนดไว้)
2.ชื่อโครงการ.........................................................
(ให้ระบุชื่อโครงการตามความเหมาะสม มีความหมายชัดเจนและเรียกเหมือนเดิมทุกครั้งจนกว่าโครงการจะแล้วเสร็จ)
3.หลักการและเหตุผล.................................................
(ใช้ชี้แจงรายละเอียดของปัญหาและความจำเป็นที่เกิดขึ้น ต้องแก้ไข ตลอดจนชี้แจงถึงผลประโยชน์ที่จะได้จากการดำเนินงานตามโครงการ และหากเป็นโครงการที่จะดำเนินการตามนโยบาย หรือโครงการอื่นๆ ก็ควรชี้แจงด้วย ทั้งนี้ ผู้เขียนโครงการ อาจจะเพิ่มเติมข้อความว่า ถ้าไม่ทำโครงการ ดังกล่าว ผลเสียหายโดยตรง หรือผลเสียหายระยะยาวจะเป็นอย่างไรเพื่อให้ผู้อนุมัติโครงการได้เห็นประโยชน์ของโครงการกว้างขวางขึ้น)
4.วัตถุประสงค์........................................................
(เป็นการบอกให้ทราบว่า การดำเนินงานตามโครงการนั้น มีความต้องการ ให้อะไรเกิดขึ้น วัตถุประสงค์ที่ควรจะระบุไว้ควรเป็นวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน ปฏิบัติได้ วัดและประเมินผลได้ ในระยะหลังๆนี้ นักเขียนโครงการที่มีผู้นิยมชมชอบมักจะเขียนวัตถุประสงค์ เป็นวัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรม คือเขียนให้เป็นรูปธรรมมากกว่าเขียนเป็นนามธรรม การทำโครงการหนึ่ง ๆ อาจมีวัตถุประสงค์มากกว่า 1 ข้อได้ แต่การเขียนวัตถุประสงค์ไว้มากๆ อาจทำให้ผู้ปฎิบัติมองไม่ชัดเจนและอาจดำเนินการให้บรรลุวัตถุประสงค์ไม่ได้ ดังนั้นจึงนิยมเขียนวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนปฏิบัติได้ วัดได้เพียง 1-3 ข้อ)
5.เป้าหมาย...........................................................
(ให้ระบุว่าจะดำเนินการสิ่งใด โดยพยายามแสดงให้ปรากฏเป็นรูปตัวเลขหรือจำนวนที่จะทำได้ในระยะเวลาที่กำหนด การระบุเป้าหมายนั้นควรระบุเป็นประเภทลักษณะและปริมาณให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และความสามารถในการทำงานของผู้รับผิดชองโครงการด้วย)
6.วิธีดำเนินการ/กิจกรรม............................................
(คือ งานหรือภารกิจ ซึ่งจะต้องปฏิบัติในการดำเนินโครงการให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ในระยะการเตรียมโครงการจะรวบรวมกิจกรรมทุกอย่างไว้แล้วนำมาจัดลำดับว่าควรทำสิ่งใดก่อน - หลัง หรือพร้อมๆกัน แล้วเขียนไว้ตามลำดับจนถึงขั้นตอนสุดท้ายที่ทำให้โครงการบรรลุวัตถุประสงค์)
7.ระยะเวลาดำเนินการ..............................................
(คือ การระบุระยะเวลาตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ จนเสร็จสิ้นโครงการปัจจุบันนิยม ระบุ วัน-เดือน-ปี ที่เริ่มต้นและแล้วเสร็จ)
8.งบประมาณ/ทรัพยากร............................................
(เป็นประมาณการค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นของโครงการ ซึ่งควรจำแนกรายการค่าใช้จ่ายได้อย่างชัดเจน การระบุยอดงบประมาณ ควรระบุแหล่งที่มาของงบประมาณด้วย)
9.ผู้รับผิดชอบโครงการ...............................................
(เป็นการระบุเพื่อให้ทราบว่า หน่วยงานใดเป็นเจ้าของ หรือรับผิดชอบโครงการ บางโครงการระบุเป็นชื่อบุคคลผู้รับผิดชอบเป็นรายโครงการได้)
10.หน่วยงานที่ให้การสนับสนุน...................................
(เป็นการให้แนวทางแก่ผู้อนุมัติและผู้ปฎิบัติ ว่าในการดำเนินงานนั้นควรจะดำเนินงานประสาน และร่วมมือกับหน่วยงานใดบ้างเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้)
11.การติดตามประเมินผล...........................................
(เป็นการบอกแนวทางว่าการติดตามประเมินผล ควรทำอย่างไร ในระยะเวลาใด และใช้วิธีการอย่างไรจึงจะเหมาะสม ซึ่งผลของการประเมิน (รวมตัวชี้วัดและค่าเป้าหมายด้วย) ซึ่งจะสามารถนำมาพิจารณาประกอบการดำเนินการในเวลาต่อไป)
12.ผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ.................................
(เมื่อโครงการนั้นเสร็จสิ้นแล้ว จะเกิดประโยชน์อะไรบ้าง ใครเป็นผู้ได้รับประโยชน์ ซึ่งสามารถเขียนทั้งผลประโยชน์โดยตรงและผลประโยชน์ด้านผลกระทบของโครงการได้ด้วย)
ลักษณะของโครงการที่ดี
1. เป็นโครงการที่สามารถแก้ปัญหาได้
2. มีรายละเอียด เนื้อหาสาระครบถ้วน ชัดเจน และจำเพาะเจาะจงโดยสามารถตอบคำถามต่อไปนี้ได้คือ
- โครงการอะไร (ชื่อโครงการ)
- ทำไมจึงต้องริเริ่มโครงการ (หลักการและเหตุผล)
- ทำเพื่ออะไร (วัตถุประสงค์)
- ปริมาณที่จะทำเท่าไร (เป้าหมาย)
- ทำอย่างไร (วิธีดำเนินการ)
- ทำเมื่อไร นานเท่าใด (ระยะเวลาดำเนินการ)
- ใช้ทรัพยากรเท่าไรและได้มาจากไหน (งบประมาณ แหล่งที่มา)
- ใครทำ (ผู้รับผิดชอบโครงการ)
- ต้องประสานงานกับใคร (หน่วยงานที่ให้การสนับสนุน)
- บรรลุวัตถุประสงค์หรือไม่ (การประเมินผล)
- เมื่อเสร็จสิ้นโครงการแล้วจะได้อะไร (ผลประโยชน์ที่คาวว่าจะได้รับ)
บทสรุป
ในการจัดทำโครงการนั้น ผมคิดว่าผู้จัดทำโครงการ จะต้องศึกษาปัญหาความต้องการ ก่อนการเขียนโครงการ เช่น การสำรวจ การสังเกต การประชุมปรึกษาการพบปะพูดคุย เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ผู้จัดทำโครงการมีแนวคิด ในการจัดเตรียมโครงการได้ จะช่วยให้โครงการเป็นไปอย่างเหมาะสม มีน้ำหนัก มีเหตุผลน่าเชื่อถือซึ่งทุกท่านสามารถนำเทคนิคเบื้องต้น ไปใช้ประยุกต์ใช้ในการทำงานได้ครับ
วรัท พฤกษากุลนันท์
ที่มา https://www.facebook.com/drwarath/posts/2401292416566776

ไม่มีความคิดเห็น:

เครื่องแบบลูกเสือ การแต่งเครื่องแบบลูกเสือ กางเกง  ชายกางเกงขาสั้น ผ้าผูกคอ     ใช้ผ้าผูกคอตามสังกัด   (เช่น ลูกเสือเขตการศึกษา 8  เช...

ค้นหาบล็อกนี้