Translate

หน้าเว็บ

16 กุมภาพันธ์ 2563

คําแนะนําในการให้คําปรึกษา R.A.T.C

 คําแนะนําในการให้คําปรึกษา 

หลักสูตรวิชาผู้กํากับลูกเสือสามัญวิสามัญ ขั้นความรู้ชั้นสูง

           บทเรียนที่  10

เรื่อง  คำแนะนำในการให้คำปรึกษา                                     เวลา  75  นาที



ขอบข่ายวิชา

วิชาคำแนะนำในการให้คำปรึกษา  จะได้กล่าวถึงความหมายของการให้คำปรึกษา จุดมุ่งหมาย  

หลักการเบื้องต้น และวิธีจัดการให้คำปรึกษาที่จำเป็นที่ผู้กำกับลูกเสือวิสามัญจะสามารถนำไปใช้ได้

ในการฝึกอบรมลูกเสือวิสามัญ

จุดหมาย    แนะนำและให้คำปรึกษากับลูกเสือได้อย่างดี

วัตถุประสงค์

เมื่อจบบทเรียนนี้แล้ว ผู้เข้ารับการผึกอบรมควรจะมีความสามารถ

1.  อธิบายหลักการให้คำปรึกษาเบื้องต้นได้

2.  เลือกใช้เทคนิควิธีการให้คำปรึกษาได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ

3.  แสดงขั้นตอนและวิธีการให้คำปรึกษาได้อย่างถูกต้อง

วิธีการสอน/กิจกรรม

1.  การบรรยาย 20  นาที

2.  การอภิปรายและการสาธิต 35  นาที

3.  สรุปและซักถาม 20  นาที

สื่อการสอน

1.  เอกสารประกอบคำบรรยาย  เรื่อง “คำแนะนำในการให้คำปรึกษาเบื้องต้น”

2.  เอกสารประกอบคำบรรยาย  เรื่อง “การให้คำปรึกษาแนะแนว”

3.  ภาพโปร่งใส  ชุด “การให้คำปรึกษา”

การประเมินผล

1.  สังเกตพฤติกรรม

2.  ซักถาม

3.  ทดสอบ

เนื้อหาวิชา

บรรยายนำ

การให้คำปรึกษา คือเทคนิคหรือกลวิธีที่ผู้กำกับลูกเสือจะสามารถช่วยเหลือลูกเสือวิสามัญที่มีปัญหา

ได้ เหตุนี้การให้คำปรึกษาจึงเป็นความสัมพันธ์ระหว่างผู้กำกับลูกเสือกับลูกเสือวิสามัญที่มีลักษณะพิเศษของ

การช่วยเหลือกันโดยกรรมวิธีการสนทนา พูดคุย ให้คำปรึกษาอย่างเป็นกันเองมีความเชื่อใจและการไว้วางใจ

อย่างสนิทสนม

การให้คำปรึกษาจะสามารถดำเนินการไปได้ด้วยดีในช่วงเวลาของการสนทนาพูดคุยปรึกษากันนั้น

สิ่งแวดล้อมและบรรยากาศโดยทั่วไปจะมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เช่น สถานที่ต้องมีความสะอาด มิดชิด

พอสมควร เป็นสถานที่ที่ชวนนั่งพูดคุยกัน มีความเป็นเอกเทศ เป็นสัดเป็นส่วนไม่ปะปนกับคนอื่น ๆ เพราะ

ลูกเสือวิสามัญที่มาขอคำปรึกษาจะลำบากและอึดอัดใจในการพูด เล่าเรื่องราวหรือระบายความรู้สึกส่วนตัว

ของเขาออกมา ในบรรยากาศเช่นนี้ความไว้วางใจว่าเรื่องราวของเขาจะเป็นความลับก็จะหมดไป  ดังนั้นบรรยากาศของสถานที่ที่จะให้คำปรึกษาจึงมีความสำคัญมาก

ควรจะได้มีการสอดแทรกสิ่งต่อไปนี้ด้วย

กิจการลูกเสือวิสามัญจะเกี่ยวข้องกับความเจริญเติบโตของเยาวชนวัยหนุ่มสาว  ผู้กำกับ  ลูกเสือจะมี

ส่วนอย่างมากที่เข้ามาช่วยให้เขาได้เจริญเติบโตตามวุฒิภาวะ

ลูกเสือวิสามัญควรจะได้เรียนรู้และเข้าใจ รู้จักการเลือก รู้จักการตัดสินใจและเข้าใจในเรื่องการสร้าง

สัมพันธภาพกับบุคคลอื่น ๆ ด้วย

ในบางครั้งบางคราวเยาวชนหนุ่มสาวอาจมีปัญหาและแสวงหาผู้ช่วยเหลือเพื่อที่จะแก้ไขปัญหานั้น

ผู้กำกับลูกเสือวิสามัญจะเป็นผู้ที่อยู่ในสถานการณ์และเหตุการณ์ที่เยาวชนหนุ่มสาวจะสามารถสนทนาพูดคุย

อย่างไว้วางใจได้ เช่น ในขณะเดินทางไกลอยู่ค่ายพักแรมหรือหลังจากสิ้นสุดการประชุมกองฯ  เป็นต้น

ในการให้คำปรึกษาไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจหรือการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ก็ตาม  

ผู้กำกับลูกเสือจะต้องมีความตื่นตัวและมีความรู้สึกไวอยู่เสมอในการที่จะหยิบฉวยโอกาสนี้เพื่อช่วยเหลือ

เยาวชนหนุ่มสาวให้เป็นผู้เจริญตามวุฒิภาวะของเขาเอง  การปฏิบัติตนของผู้กำกับลูกเสือขณะให้คำปรึกษา

จะต้องไม่ยัดเยียด ไม่ชี้แนะ เสนอแนะ  หรือแก้ไขปัญหาแทนเยาวชนหนุ่มสาว  กล่าวคือ ผู้กำกับลูกเสือจะ

ต้องทำหน้าที่ผู้ให้คำปรึกษา คือต้องพยายามหาวิธีการที่จะชักจูงให้เยาวชนหนุ่มสาวมองเห็นปัญหานั้น

ในแง่มุมต่าง ๆ กันด้วยตนเอง  พยายามทำให้เขาได้เข้าใจว่าอะไรเป็นสิ่งถูก  และอะไรเป็นสิ่งผิด จนในที่สุด

เขาสามารถตัดสินใจแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ด้วยตัวของเขาเอง การกระทำเช่นนี้เรียกว่า “การให้คำปรึกษา”

ในบทนี้จะเป็นข้อเสนอแนะในการให้คำปรึกษาเบื้องต้น  ผู้กำกับลูกเสือจะต้องไม่คิดว่าตนเองเป็น

ผู้ที่มีความสามารถช่วยเหลือคนอื่นซึ่งมีปัญหายุ่งยากหรือมีปัญหาส่วนตัวที่สับสนอันต้องการความช่วยเหลือ

จากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะได้  แต่จะเป็นเพียงการกล่าวถึงการให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นเท่านั้น  เป็นที่ทราบกัน

โดยทั่วไปว่าเยาวชนรุ่นหนุ่มสาวส่วนมากไม่ต้องการความช่วยเหลือระยะยาว  เขาอาจจะต้องการความช่วย-เหลือเป็นบางคราวเท่านั้น แต่เมื่อใดที่เขามีความต้องการให้ช่วยเหลือ  เขาอาจต้องการความสนใจจากผู้ที่

ยอมรับฟังความรู้สึกของเขาอย่างตั้งใจ ต้องการผู้ใหญ่ที่มีใจเป็นธรรม วางตัวเป็นกลางไม่โอนเอียงหรือ

ไม่เข้าข้างใดข้างหนึ่ง  จนเขาสามารถจัดลำดับความนึกคิดของเขาเองได้ บ่อยครั้งที่ผู้กำกับลูกเสืออยู่ในฐานะ

ที่จะให้การช่วยเหลือเช่นนี้แก่ลูกเสือวิสามัญเป็นรายคนหรือแก่หมู่ลูกเสือได้

หลังจากการบรรยายนำแล้ว  อาจทำการอภิปรายประกอบการสาธิตวิธีการให้คำปรึกษาที่ถูกต้องให้

ผู้เข้ารับการฝึกอบรมได้ดูเป็นตัวอย่าง  (โดยเชิญผู้เข้ารับการฝึกอบรมมาร่วมการอภิปรายและสาธิตด้วยและหากผู้เข้ารับการผึกอบรมมีข้อสงสัยให้ทำซ้ำอีกครั้ง)

ท่านอาจนำปัญหาของผู้เข้ารับการฝึกอบรมผู้ใดผู้หนึ่งขึ้นมา และแสดงวิธีการแก้ไขปัญหานั้น

อย่างจริงจังทั้งนี้ให้คำนึงถึง

1.  การสร้างมิตรภาพ

2.  การวางท่าทาง และน้ำเสียง

3.  การใช้เทคนิคให้คำปรึกษาต่าง ๆ

4.  การจบบทสนทนา

สรุป

ก่อนจบบทเรียนนี้ผู้บรรยายต้องย้ำเตือนในเรื่องการนำเทคนิคการให้คำปรึกษาไปใช้กับลูกเสือ-วิสามัญ

-  หวังว่าแนวความคิดนี้คงให้ประโยชน์  และอาจใช้ได้ไม่เฉพาะการให้คำปรึกษาต่อคนหนึ่งคนใด

โดยเฉพาะเท่านั้น  แต่อาจจะใช้ได้กับหมู่ลูกเสือหรือกลุ่มของผู้กำกับลูกเสือเองด้วยก็ได้

-  แม้ว่าส่วนใหญ่จะคำนึงถึงการให้คำปรึกษาเบื้องต้นก็ตาม  แต่บางครั้งเรื่องที่ถูกนำมาขอรับ

คำปรึกษาอาจจะยากไปสำหรับเรา  เราจะต้องไม่ลืมขีดจำกัดความสามารถของเราเอง  เพราะเรามิใช่

ผู้เชี่ยวชาญในสาขานี้

-  ทักษะความชำนาญนั้นจะเกิดขึ้นได้หากเราได้ทำการฝึกและปฏิบัติบ่อย ๆ  คำแนะนำคือท่านสามารถจะศึกษาได้จากผู้รู้  หรือแม้กระทั่งจากตำราอื่น

-  การให้คำปรึกษาด้วยตัวของมันเองนั้นจะไม่ใช่เรื่องของภาวะผู้นำทั้งหมด  แต่เป็นทักษะสำคัญ

ที่ผู้นำควรจะมีไว้  ไม่มีอะไรจะแทนความเห็นอกเห็นใจ  ความปรารถนาที่จะช่วย  แต่ทักษะที่จะให้การ

ช่วยเหลือนั้นอาจพัฒนาได้โดยการฝึกหัดปฏิบัติในระหว่างการฝึกอบรม หรือการเรียนรู้จากประสบการณ์

โดยตรง













  เอกสารประกอบ  (1)



คำแนะนำในการให้คำปรึกษาเบื้องต้น

บางครั้งบางคราวผู้กำกับจะมีลูกเสือวัยรุ่นหนุ่มเดินเข้ามาหา  แล้วกล่าวว่า  “ครูครับ ผมมีเรื่องที่จะ

ปรึกษาหารือกับครูสักหน่อย ครูจะมีเวลาว่างให้กับผมหน่อยไหมครับ”

การที่มีลูกเสือเข้ามาหาผู้กำกับโดยทันทีทันใดและกระทันหันเช่นนี้  นับว่าเป็นโอกาสอันดีที่แท้จริง

สำหรับผู้กำกับ  การที่ผู้กำกับจะแสดงกิริยาออกมาอย่างไรจะพูดจะกล่าวคำพูดอย่างไร  และการแสดงเจตคติ

ของผู้กำกับต่อคนวัยหนุ่มคนนี้อย่างไร  จะเป็นเครื่องวัดว่าผู้กำกับนั้นจะเป็นผู้ช่วยเหลือคนวัยหนุ่มนั้นได้

เพียงไร


ใครจะช่วยได้

เราทุกคนไม่ว่าหนุ่มหรือแก่  ชายหรือหญิง  ผู้ประสบความสำเร็จ  หรือผู้ที่ล้มเหลวต้องการความ-

ช่วยเหลือ   เช่น ช่วยเหลือในการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับผู้อื่น  ช่วยเหลือในเรื่องการสำรวจ  ช่วยให้เข้าใจ

ในเรื่องหนึ่งเรื่องใด  ช่วยให้ตัดสินใจได้  ช่วยเหลือให้สามารถปฏิบัติงานได้  และช่วยเหลือให้มีชีวิตอยู่อย่าง

มีคุณค่า

เด็กมีหมู่บุคคลที่จะให้ความช่วยเหลือได้ เช่น พ่อแม่  ญาติพี่น้อง  ครู ผู้ใหญ่  มักจะเลือกเพื่อนสนิท

มิตรสหาย ในบางโอกาสต้องการความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ เช่น แพทย์ หรือทนายความ  คนวัยหนุ่มจะ

อยู่ระหว่างขั้นทั้งสองนี้  เขาอาจจะไม่ยอมรับผู้ช่วยที่มอบให้กับเขาอย่างเช่นเดียวกับที่มอบให้เด็ก  แต่เขาก็

ยังไม่รู้จะแสวงหาความช่วยเหลือจากใคร  เขาอาจจะแสวงหาความช่วยเหลือจากเพื่อนที่อายุรุ่นราวคราว

เดียวกับเขา  (ซึ่งเขาเองก็ยังมีความคิดสับสนอยู่)  หรืออาจจะไปแสวงหาความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่ก็ได้ บางที

อาจจะไปหาความช่วยเหลือจากผู้กำกับของเขา ผู้ใหญ่ที่เขาจะเลือกเข้าไปหานั้น  มักจะเป็นคนที่เขาเคยเห็น

ว่าเป็นผู้ที่สนใจต่อเขาและเข้าใจเขาอย่างมนุษย์คนหนึ่งทั้งเป็นคนที่เข้าหาได้ง่าย ตั้งอกตั้งใจฟังปัญหาของเขา

และเชื่อว่าจะช่วยเขาได้


การช่วยโดยการให้คำแนะนำ

ผู้ใหญ่บางคนเชื่อว่าตัวเองมีความรับผิดชอบที่จะเป็นคนตรงไปตรงมาและให้คำแนะนำไปโดยกล่าว

ข้างต้นว่า “สิ่งที่เธอควรจะทำคือ”  การที่ผู้ใหญ่กล่าวเช่นนี้ก็เพราะเชื่อว่าเขามีประสบการณ์ในชีวิตมาก่อน

และมีความสามารถที่จะมองเห็นปัญหาของเรื่องได้อย่างแจ่มชัด  สามารถจะถ่ายทอดให้ผู้อื่นต่อไปได้  เขาจึง

ใช้คำว่า  “ถ้าฉันเป็นเธอฉันจะ…”  อาจมีบางกรณีที่อาจไม่มีคำแนะนำเป็นอย่างอื่นได้  (เช่น   ในกรณีเกิดวิกฤติการณ์ หรือเกิดเหตุปัจจุบันทันด่วน เหตุฉุกเฉิน คนนั้นไม่อาจจะคิดอะไรได้เพราะกำลังกลุ้มอกกลุ้มใจ)

อย่างไรก็ดีเหตุการณ์ดังกล่าวนี้มีน้อยโดยทั่วไปเมื่อใครอยู่ในฐานะที่จะกล่าวหรือแสดงความคิดเห็น

โดยใช้ถ้อยคำว่า  “ถ้าฉันเป็นเธอ  ฉันจะ…”  นั้น  ย่อมมีความยุ่งยากอยู่หลายประการ  เพราะเขาไม่ใช่เรา  จึง

อาจจะมีปัจจัยส่วนตัวแฝงอยู่ด้วย  ซึ่งเขาไม่ได้แสดงออกมาให้ปรากฏ  เราไม่อาจจะมีความแน่นอนใจได้ว่า

ความรู้สึกและประเด็นปัญหาทั้งหลายทั้งสิ้นได้ร่วมกันรับการพิจารณาแล้วคำแนะนำเป็นเสมือนมือรอง  ผล

ที่ได้รับอาจไม่เป็นที่พึงพอใจบางทีอาจเป็นเรื่องผิดก็เป็นได้ แม้ในคำแนะนำจะมีเหตุผลดีแต่ผู้ฟังอาจยังไม่ได้

รับการจูงใจเพียงพอที่จะปฏิบัติตามก็ได้  เพราะว่าผู้ฟังมิได้มีส่วนร่วมคิดด้วยตนเอง

คำแนะนำและความคิดเห็นจากหลายแหล่ง  (เช่น  จากพ่อแม่  ครู  และเพื่อน)  ให้เขาคิดเปรียบเทียบ

ความคิดเห็นต่าง ๆ กัน  จากคนเหล่านั้น  แทนที่จะคิดถึงผลประโยชน์ของการที่จะปฏิบัติตามความคิดเห็น

เหล่านั้น

เมื่อได้รับคำแนะนำบุคคลนั้นย่อมหยุดคิดที่จะแก้ปัญหานั้นด้วยตัวของตัวเอง  การให้คำแนะนำ

ส่งเสริมให้เกิดเจตคติเกี่ยวกับการพึ่งผู้อื่น  จนบางทีต้องอาศัยผู้ให้คำแนะนำอยู่เสมอ โดยสรุปการให้

คำแนะนำมิช่วยให้คนวัยหนุ่มกลายเป็นคนมีวุฒิภาวะสมบูรณ์  (Mature)  และเป็นผู้ใหญ่ที่มีความรับผิดชอบ

สามารถจะค้นหาวิธีตัดสินใจปัญหาต่าง ๆ ได้ด้วยตัวเอง


การช่วยโดยวิธีให้คำปรึกษา

วิธีช่วยเหลือวิธีหนึ่ง  คือ  การหลีกเลี่ยง  การที่จะมอบผลการแก้ไขปัญหา หรือการให้คำตอบที่ทำไว้

สำเร็จรูปแล้วแก่ผู้มีปัญหา  ในทางตรงกันข้าม  จะช่วยให้ผู้นั้นมองสถานการณ์จากทุกแง่ทุกมุมให้เข้าใจ

ความรู้สึกของตนเองต่อปัญหานั้น  ให้ชั่งใจตนในวิธีอื่นที่มี  ครั้นแล้วให้ตัดสินใจด้วยตัวเองว่าควรจะปฏิบัติ

อย่างไรต่อไป  วิธีการที่ช่วยให้บุคคลมองสถานการณ์ให้ถี่ถ้วนรอบคอบด้วยความบริสุทธิ์ใจ  ขบคิดปัญหา

ให้ลุล่วงไป  แล้วตัดสินใจด้วยตนเองนั้น  เรียกว่า  “การให้คำปรึกษา”  (Counselling)

คำว่า “การให้คำปรึกษา” นั้น อาจใช้โดยมีความหมายไปทางอื่นได้อีกหลายความหมาย  แต่หลักการ

ที่นำมาใช้มักจะคล้ายคลึงกันแนวความคิดที่เกิดขึ้นมีอยู่ว่า การนำเข้าสู่เรื่องและสังเขปย่อของหลักการเหล่านี้

ในที่นี้เราไม่คิดถึงเรื่องที่จะให้การช่วยเหลือแก่บุคคลที่มีปัญหาร้ายแรง  หรือบุคคลที่มีปัญหาทางใจ

สลับซับซ้อน คนเหล่านี้ต้องไปหาความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ  ในการสำรวจเรื่องการขอความช่วยเหลือ

ในโรงเรียน  ได้พบว่าเด็กนักเรียนส่วนใหญ่ไม่ต้องการความช่วยเหลือระยะยาว นักเรียนมีความต้องการเพียงบางครั้ง และบางคราวก็ต้องการความรุนแรงมาก ต้องการความอบอุ่นใจจากผู้ที่สนใจฟังเขา  ปล่อยให้เขา

มีโอกาสเลือกหรือลำดับความรู้สึกความนึกคิดของเขา ต่อหน้าผู้ใหญ่ที่มีประสบการณ์และไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง

ทางจิตใจกับปัญหานั้น  บางทีเราผู้กำกับอาจจะเป็นผู้ใหญ่คนนั้นสำหรับลูกเสือของเราก็ได้


จะให้คำปรึกษาเมื่อไร

มีอยู่  2  สถานการณ์

1.  เมื่อใครคนหนึ่งมีความคิดสับสน  เขาไม่รู้ว่าจะทำอะไรดี  มีความกังวลใจ  ตัดสินใจไม่ได้

เขาไม่มีข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องที่กลุ้มใจ  บางทีเขามีข้อเท็จจริง  แต่แปลข้อเท็จจริงนั้นไม่ออก  เขาคิดจะทำ

อย่างนั้นอย่างนี้แต่ไม่แน่ใจว่าควรจะทำอย่างไร

2.  เมื่อใครคนหนึ่งตัดสินใจทำอะไรลงไปอย่างรวดเร็วฉับพลัน  เมื่อเขากังวลใจ โกรธหรือสับสนใจ

เขาอาจจะตัดสินใจอย่างรวดเร็ว  รีบร้อน  เขามักจะมองไม่เห็นหรือไม่คิดว่าจะมีวิธีอื่นที่จะทำอีกหรือไม่  เขา

ไม่อาจมองเห็นผลได้เสียของแผนหรือการกระทำของเขา  แต่เขากระทำลงไปทันที

ท่านในฐานะเป็นผู้กำกับ  อาจถูกขอร้องให้เข้าไปให้ความช่วยเหลือ  หรือบางทีตัวท่านเองอาจจะ

เกิดความรู้สึกขึ้นมาว่า  ท่านมีความจำเป็นที่จะต้องเข้าไปให้ความช่วยเหลือ  จงสร้างบรรยากาศให้สิ่งเหล่านี้

เกิดขึ้นเถิด  เปิดโอกาสให้ลูกเสือได้เห็นว่าท่านว่างเสมอ  อาจเข้าหาเมื่อไรก็ได้  และท่านเฝ้าดูเหตุการณ์อยู่

โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลง  เจตคติ  อารมณ์  และพฤติกรรมอย่างฉับพลัน


จะให้คำปรึกษาที่ไหน

การให้ปรึกษาแบบ “ขั้นปฐม”  ที่ได้กล่าวมาในบทเรียนนี้  ไม่จำเป็นต้องใช้ห้องมิดชิด  มีเก้าอี้นวม

หรูหรา  การให้คำปรึกษาอาจทำได้ในขณะที่กำลังเดินทางไกลหรือที่มุมห้องในกองลูกเสือของท่าน นอกจาก

นั้นลูกเสือผู้มีปัญหาก็จะไม่ทำการนัดหมายล่วงหน้าว่า  จะมาพบผู้กำกับเมื่อนั้นเมื่อนี้เวลาเดียวกัน  ผู้กำกับ

หลายคนได้ให้คำปรึกษาไปอย่างประสบผลดี  โดยมิได้เตรียมเนื้อเตรียมตัวอะไรมากมายเป็นพิเศษ

การให้คำปรึกษาเป็นเรื่องส่วนตัว   จงนำลูกเสือที่มีปัญหาไปยังที่ที่ท่านอาจจะพูดจากันโดยคนอื่น

มิอาจจะได้ยิน  หรือเข้ามาขัดจังหวะรบกวนได้  พยายามทำให้ลูกเสือมีความสบายใจ  และคลายความเครียดให้มากที่สุด

โดยปกติ  ลูกเสือแต่ละคนย่อมแตกต่างกัน  บางคนจะเริ่มพูดโดยรวดเร็ว เล่าเรื่องให้ฟังทันที บางคน

ใช้ภาษารุนแรงในการเล่าเรื่อง  บางคนพูดตรงไปตรงมา และเข้าถึงจุดของปัญหาทันที บางคนพูดวกไปวกมา

ปัญหาแต่ละปัญหาย่อมแตกต่างกัน  ผู้กำกับก็แตกต่างกันด้วย  ฉะนั้น การให้คำปรึกษาจึงเป็นเรื่องที่จะทำ

โดยกำหนดเป็นข้อ 1-2-3  ไม่ได้  หลักการที่ให้ไว้เพื่อปฏิบัติตามนั้น  เป็นคำแนะนำทั่วไป  เมื่อจะนำไปใช้

ต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้เหมาะกับผู้มีปัญหากับสถานการณ์  และกับตัวท่านเอง










  เอกสารประกอบ ( 2)


การให้คำปรึกษาแนะแนว

1.  จุดมุ่งหมายของการให้คำปรึกษาแนะแนว

1)  ให้ผู้รับคำปรึกษาได้พูดระบายความรู้สึกคับข้องใจออกมา  อันจะทำให้เกิดความเข้าใจใน

ความหมายของปัญหาหรือเหตุการณ์นั้น ๆ ได้

2)  ให้เกิดความร่วมมือกันของผู้ให้คำปรึกษาแนะแนวและผู้รับคำปรึกษาในการที่จะวางแผนเผชิญ

และแก้ไขสถานการณ์ปัญหาของผู้รับคำปรึกษาเองได้

2.  ผู้ให้คำปรึกษาแนะแนวคือใคร

ผู้ให้คำปรึกษาแนะแนว ก็คือ คนที่ถูกฝึกอบรมให้มีทักษะ  เหมาะสมที่จะเข้ารับหน้าที่ในการให้

คำปรึกษาแนะแนว  อย่างไรก็ดีผู้ให้คำปรึกษาแนะแนวก็ยังเป็น “คน” ผู้ซึ่งมีความต้องการทางร่างกาย  จิตใจ  

และสังคม เป็นผู้ซึ่งถูกขัดเกลามาจากครอบครัวต่าง ๆ กัน ทำให้มีค่านิยม  ความเชื่อเรื่องราวต่าง ๆ ที่ไม่

เหมือนกัน  ตลอดจนเป็นผู้ที่มีจุดอ่อนจุดเด่นใจตนเอง ที่แตกต่างกันไป  ลักษณะที่แตกต่างกันนี้เอง  อาจมี

อิทธิพลส่งเสริมหรือขัดขวางในการให้คำปรึกษาได้

ดังนั้น  ผู้ให้คำปรึกษาแนะแนว  จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรู้จักตนเอง   รู้ว่าตนเองมีความเชื่อ  ค่านิยม

เกี่ยวกับพฤติกรรมเสี่ยงต่าง ๆ อย่างไร  และรู้จักระวังตนเองในการแสดงออกทางวาจา  และท่าทาง  ขณะให้

คำปรึกษาแนะแนวอย่างเหมาะสม รู้จักควบคุมและเผชิญอารมณ์ ความรู้สึก ความกลัว หรือความรู้สึกรังเกียจ

ให้อยู่ในสภาพที่ไม่ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่หรือเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้รับบริการให้มากที่สุด

2.1  คุณสมบัติของผู้ที่ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแนะแนว

1)  เป็นผู้ที่มีความรู้ในเนื้อหาของเรื่องที่จะให้การแนะแนวเป็นอย่างดี

2)  เป็นผู้มีความเชื่อมั่น  บุคลิกมั่นคง  สามารถควบคุมอารมณ์  รับฟังปัญหา  และการระบาย

      ความในใจของผู้มารับบริการได้

3)  เป็นผู้ที่ผู้รับบริการยอมรับและให้ความเชื่อถือ

4)  เป็นผู้ที่มีความสามารถสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับผู้รับบริการ โดยการวางตัวเป็นกันเองได้

5)  เป็นผู้มีความเสียสละ  อดทน  ตั้งใจที่จะแก้ปัญหาให้ผู้มารับบริการ

6)  เป็นผู้ที่ได้รับการอบรมในการให้คำปรึกษาแนะแนว  โดยเฉพาะในเรื่องที่ได้รับมอบหมาย

2.2  ความรับผิดชอบของผู้ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแนะแนว

1)  พยายามเข้าถึงสภาพจิตและสังคมของผู้ที่มารับคำปรึกษาทุกประเภท

2)  นอกจากจะให้ข่าวสารด้านความรู้แล้ว   ยังต้องพยายามโน้มน้าวให้เกิดการเปลี่ยนทัศนคติ

      และการปฏิบัติของผู้รับคำปรึกษาให้เป็นไปในทางที่เหมาะสม

3)  รักษาความลับของผู้รับบริการ


2.3)  ข้อควรปฏิบัติสำหรับผู้ให้คำปรึกษาแนะแนว

1)  ผู้ให้คำปรึกษาแนะแนวควรได้วิเคราะห์ตนเองอยู่เสมอว่า ตนเองเป็นคนอย่างไร มีนิสัยใจคอ

      ความรู้สึก  ความเชื่ออย่างไร

2)  ผู้ให้คำปรึกษาแนะแนวมีความรู้จักขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น หากรู้สึกว่าตนเองมีความกลัว

      หรือความรู้สึกสับสน  คับข้องใจในการให้บริการแก่ผู้รับคำปรึกษา

3)  ผู้ให้คำปรึกษาแนะแนวควรได้มีการพบปะพูดคุยระหว่างวิชาชีพเดียวกัน และต่างวิชาชีพ

      เพื่อเป็นการให้กำลังใจซึ่งกันและกันในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อแก้ปัญหา


3.  ผู้รับคำปรึกษาคือใคร

ผู้รับคำปรึกษา  คือ  คนที่กำลังเผชิญปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่ง   และต้องการความช่วยเหลือเพื่อให้

มองเห็นสาเหตุและวิธีแก้ไขปัญหา ผู้รับคำปรึกษาแต่ละคนมีความแตกต่างกันเนื่องจากสาเหตุหลายประการ

คือ

1)  พื้นฐานของวัฒนธรรมการอบรมเลี้ยงดูจากครอบครัวแต่เยาว์วัย  ทำให้เกิดพลังจิตที่เข้มแข็งหรือ

อ่อนแอได้ ทำให้การรับรู้ปัญหาที่จะต้องมีวิธีการบำบัดแก้ใขของผู้รับคำปรึกษาแต่ละคนแตกต่างกันมากบ้าง

น้อยบ้างบางคนมีพลังจิตเข้มแข็งอ่อนแอปะปนกัน การบำบัดหรือให้คำปรึกษาแนะแนวจะต้องนำเอาพลังจิต

ที่เข้มแข็งหรือจุดแข็งมาเอาชนะพลังจิตที่อ่อนแอหรือจุดด้อยให้จงได้

2)  การเรียนรู้ในสถาบันการศึกษา  ตลอดจนสภาพสังคมแวดล้อม  ทำให้การมองตนเอง  การมอง

ปัญหาของตนเองผิดแผกกันไปได้เหมือนกัน  เช่น  นักเศรษฐศาสตร์มองตนเอง  มองคนอื่นหรือมองปัญหา

ที่เกิดขึ้นแตกต่างจากนักกฎหมาย   นักสังคมศาสตร์มองหรือนักการเกษตรมองปัญหาต่างจากนักสังคม-สงเคราะห์มองหรือคนในแหล่งสลัมมองตนเอง มองปัญหาของตนเองไม่เหมือนกับคนในชุมชนบ้านจัดสรร

ราคาแพงเป็นต้น   แต่ไม่ว่าเขาจะเป็นใครถ้าต้องตกมาอยู่ในบทบาทของผู้รับคำปรึกษา  ขั้นตอนหรือ

กระบวนการของการให้คำปรึกษาแนะแนวย่อมเป็นความจำเป็นทั้งสิ้น

3) ความพร้อมของผู้รับคำปรึกษา  การมารับบริการเพราะภาวะจำยอมต่าง ๆ จะไม่เป็นผลแก่ทุกฝ่าย

ที่อยู่ในวงการให้คำปรึกษาแนะแนว โดยเฉพาะแก่ตัวผู้รับคำปรึกษาแนะแนว  เพราะเขาจะขาดความคิดอย่าง

มีสติมีเหตุมีผล  และไม่รู้ว่าตนเองมีบทบาทมากน้อยเพียงใดในกระบวนการให้คำปรึกษาแนะแนว  อย่างไร

ก็ตาม  การเตรียมความพร้อมของผู้รับคำปรึกษาสามารถกระทำได้โดยขึ้นอยู่กับเทคนิควิธีการของผู้ทำหน้าที่

เป็นผู้ให้คำปรึกษาแนะแนวอีกด้วย

4) ความพร้อมของผู้ให้คำปรึกษาบางครั้งอาจต้องเปลี่ยนตัวผู้ให้คำปรึกษาแนะแนวส่วนบุคคลอื่น ๆ

นอกครอบครัว  องค์กรหรือหน่วยงานใดที่พิจารณาว่ามีความสำคัญต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้รับคำปรึกษา

ผู้ให้คำปรึกษาจะใช้ดุลยพินิจของตนเอง  หรือดุลยพินิจร่วมกับผู้รับคำปรึกษา   หรือคนในครอบครัวของ

ผู้รับคำปรึกษานำมาร่วมกระบวนการให้คำปรึกษาแนะแนวด้วยก็ได้


4.  หลักการในการให้คำปรึกษาแนะแนว

1)  พึงปฏิบัติต่อผู้รับคำปรึกษาแต่ละบุคคลอย่างที่เขาเป็นอยู่ (Individualization)  กล่าวคือ  ผู้ให้

คำปรึกษาแนะนำจะต้องปฏิบัติต่อผู้รับบริการแต่ละคนอย่างแตกต่างกัน   ทั้งนี้เพราะแต่ละคนมาจาก

กรรมพันธุ์และสิ่งแวดล้อมที่ต่างกัน

2)  ให้ผู้รับคำปรึกษาได้แสดงออกอย่างอิสระ  และพึงศึกษาถึงการแสดงออกทางความรู้สึกของ

ผู้รับคำปรึกษาเพราะการแสดงออกเหล่านั้นมีความหมาย ทั้งนี้  ต้องยอมรับการแสดงความรู้สึกของเขาด้วย

ถ้าเขาท้อแท้ก็กระตุ้นให้แสดงออกโดยการพูดออกมา

3)  พึงควบคุมอารมณ์ขณะให้คำปรึกษา  ไม่คล้อยตาม  แต่ต้องไวต่อความรู้สึกที่ผู้รับคำปรึกษา

ได้แสดงออกมาและพยายามทำความเข้าใจ  แล้วตอบโต้อย่างเหมาะสม

4)  พึงยอมรับพฤติกรรมของผู้รับการปรึกษา  ไม่ว่าพฤติกรรมนั้นจะมีจุดเด่นหรือจุดอ่อน  การมี

บรรยากาศแห่งการยอมรับจะช่วยลดกลไกการปกป้องตัวเองให้น้อยลง  และได้ข้อเท็จจริงมากขึ้น  

5)  พึงให้ผู้รับคำปรึกษาตัดสินใจด้วยตนเอง  ยอมรับสิทธิและความต้องการของผู้รับคำปรึกษา  และ

นับถือในสิทธิดังกล่าว  แต่อาจชี้ทางออกหลาย ๆ ทางให้เขาพิจารณาหาทางที่ดีที่สุด  เพื่อแก้ไขหรือป้องกันปัญหา

6)  พึงรักษาความลับของผู้รับคำปรึกษาตามจรรยาบรรณ  เพราะมิฉะนั้น   อาจจะนำความเสียหาย

มาสู่ผู้รับคำปรึกษาและผู้เกี่ยวข้องได้

7)  พึงระวังโดยไม่ยึดค่านิยมของผู้ให้คำปรึกษาแนะแนวเป็นหลักในการตัดสินใจว่าเขาไม่ดี  แต่ต้องศึกษาปัญหาและพฤติกรรมต่าง ๆ ของผู้รับคำปรึกษาตามหลักวิชา  โดยศึกษาและวิเคราะห์ปัญหาไปพร้อม ๆ กับผู้รับคำปรึกษาเพื่อเขาจะได้เรียนรู้ตนเองมากขึ้น


5.  ทัศคติที่ดีของผู้บริการให้คำปรึกษาแนะแนว

1)  ไม่มีอคติหรือลำเอียง  ไม่มีอคติในเรื่องเชื้อชาติ  ศาสนา  การศึกษา  ฯลฯ

2)  ไม่เข้มงวดในระเบียบแบบแผนแต่เป็นกันเองและยืดหยุ่นตามควร

3)  ไม่บังคับผู้รับคำปรึกษาให้ทำตาม  มิฉะนั้นเขาจะไม่กล้าแสดงออกซึ่งความรู้สึก

4)  ส่งเสริมกำลังใจ  ไม่ทำลายคุณค่าแห่งความเป็นมนุษย์และเกียรติภูมิ

5)  มีความเห็นอกเห็นใจและเข้าใจ   การเห็นใจผู้อื่นและพยายามที่จะเข้าใจพฤติกรรมต่าง ๆ ของ

      ผู้รับคำปรึกษาจึงสำคัญมากสำหรับผู้ให้คำปรึกษา

6)  มีความอดทนต่อการแสดงออกของผู้รับคำปรึกษาแม้ว่าจะไม่เห็นด้วย

7)  ไม่ตำหนิติเตียน  ไม่ประณามผู้รับคำปรึกษา  แม้ว่าเขาจะมีพฤติกรรมที่เราไม่เห็นด้วย  

ไม่ดูถูกเหยียดหยาม หรือมองโลกในแง่ร้าย

8)  ไม่คอยจับผิด  คิดว่าเขาคงเป็นคนประพฤติไม่ดี  ไม่ว่ากล่าวหรือบ่น  ไม่เอาค่านิยมส่วนตัว

หรือมาตรฐานทางศีลธรรมไปตัดสิน  หรือโกรธเคืองผู้รับคำปรึกษา

9)  นับถือในความเป็นมนุษย์ที่ให้เขาตัดสินชีวิตของเขาเอง

10) มีจรรยาบรรณทางวิชาชีพที่จะไม่แพร่งพรายเรื่องราวต่าง ๆ ให้ผู้อื่นรู้  เว้นแต่ในสายงาน

ที่จะช่วยเหลือผู้รับบริการ


6.  ขั้นตอนในการให้คำปรึกษาแนะแนว

1)  เริ่มเรียนรู้ความหมายของสถานการณ์ปัญหาของผู้รับคำปรึกษาและสาเหตุของปัญหาจาก

ตัวผู้รับคำปรึกษา

2)  พยายามเข้าใจโครงสร้างของบุคคลที่เป็นผู้รับคำปรึกษาโดยดูจากบุคลิกภาพ การแสดงอารมณ์

ความสามารถในการเข้าใจตนเองของผู้รับคำปรึกษา

3)  สร้างสัมพันธภาพที่ดี

4)  บันทึกข้อมูลเป็นรายงานเฉพาะของผู้รับคำปรึกษาแต่ละราย  ในประเด็นสำคัญ ๆ ดังนี้

(1)  ประวัติส่วนตัวภูมิหลังของผู้รับคำปรึกษา

(2)  ปัญหาและสาเหตุของปัญหาที่ผ่านกระบวนการวิเคราะห์จนแน่ชัดแล้ว

(3)  แผนการช่วยเหลือ  ซึ่งรวมถึงการวางแผนให้คำปรึกษา  แนะนำร่วมกันระหว่างผู้ให้

คำปรึกษาแลผู้รับคำปรึกษาด้วย

(4)  การช่วยเหลือตามแผนการที่กำหนด

(5)  สรุปผลการช่วยเหลือและประเมินผลการช่วยเหลือและการให้คำปรึกษาแนะนำ


7.  องค์ประกอบของกระบวนการให้คำปรึกษาแนะแนว

ในการให้คำปรึกษาแนะแนวนั้น ผู้ให้คำปรึกษาแนะนำจำเป็นต้องเข้าใจองค์ประกอบในกระบวนการให้คำปรึกษาแนะนำ ซึ่งมีสาระสำคัญ 3 ประการ กล่าวคือ (1) มีความรู้ (Knowledge)  (2) มีทัศนคติ 

(Attitude)และ (3) มีทักษะ (Skill)

1)  มีความรู้ (Knowledge)

ผู้ให้คำปรึกษาแนะนำจำเป็นที่จะต้องมีความรู้ในเรื่องที่จะให้คำปรึกษาแนะนำเป็นอย่างดี รวมไปถึง

ความรู้พื้นฐานที่จะทำความเข้าใจในปัญหาของผู้รับบริการ รู้จุดเด่น จุดด้อย และสามารถให้คำปรึกษา ให้

ความรู้แก่ผู้มีปัญหาได้ถูกต้องตามหลักวิชาการ


2)  มีทัศนคติ (Attitude)

ผู้ให้คำปรึกษาแนะแนวจำเป็นที่จะต้องมีทัศนคติที่ดีต่อการให้บริการ มีความจริงใจที่จะช่วยเหลือ 

มีความเห็นใจและเข้าใจรู้สึกร่วมไปกับผู้มีปัญหา การมีความเข้าใจและเห็นใจย่อมจะช่วยให้รับคำปรึกษา

แนะแนวเข้าใจในเกียรติภูมิและมีค่าของมนุษย์  ช่วยให้รู้สึกไม่อายที่จะพูดถึงปัญหาของตนและค้นหาความ

เป็นจริงเพื่อทำความเข้าใจในพฤติกรรมของตน

3)  มีทักษะ  (Skill)

ผู้ให้คำปรึกษาแนะแนวจำเป็นที่จะต้องมีทักษะในการให้คำปรึกษาแนะแนว  ซึ่งหมายถึงการนำ

ความรู้และทัศนคติดังกล่าวแล้วมาประยุกต์ใช้ในการให้คำปรึกษาแนะแนวอย่างมีประสิทธิภาพ เป็น

ประโยชน์ต่อการปฏิบัติงาน  ทำให้ผู้มีปัญหามีทางออก เข้าใจตนเอง เป็นที่พอใจที่ได้รับความช่วยเหลือ

รายละเอียดเกี่ยวกับทักษะในการให้คำปรึกษาแนะแนว   ประกอบด้วย

1)  ทักษะในการสร้างสัมพันธภาพด้วยความสนใจเอาใจใส่ (Attending skill)

การเริ่มต้นให้คำปรึกษาแนะแนวใช้ทักษะนี้ เริ่มสนทนาต้อนรับผู้มารับบริการด้วยบรรยากาศและ

ท่าทีที่อบอุ่นเป็นกันเอง  ผู้รับคำปรึกษาแนะแนวมักจะรู้สึกตื่นเต้นลำบากใจหรือตะขิดตะขวงใจที่จะพูดถึง

ปัญหาของตนจึงควรหาทางให้ผู้รับคำปรึกษาเกิดความรู้สึกสบายใจคลายความตื่นเต้น ผ่อนคลายความเครียด

ที่มีอยู่ โดยการเริ่มพูดคุยโดยเฉพาะในระยะแรกที่พบกัน  ซึ่งผู้ให้คำปรึกษาแนะนำมักจะเริ่มพูดก่อน เช่น 

เชื้อเชิญให้นั่ง  หรือการเสนอตัวเพื่อแก้ปัญหาของผู้มารับบริการ เป็นต้น ทักษะการเอาใจใส่นี้มีสาระในการ

พึงพิจารณา 4 ประการ คือ

    1.1  การมอง

    การมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อผู้รับคำปรึกษาด้วยการมองด้วยความสนใจที่จะช่วยเหลือ ไม่แสดงกิริยา

ใดๆ ที่ขัดแย้งที่ทำให้ผู้มีปัญหาไม่สบายใจ  ไม่มองเพื่อวัตถุประสงค์อื่นซึ่งจะทำให้ผู้รับคำปรึกษารู้สึกไม่ไว้

วางใจ แต่เป็นการมองอย่างสุจริตใจ จากส่วนลึกของหัวใจที่คิดช่วยเหลือจริง ๆ

    1.2  กิริยาท่าทาง

    ท่าทางต่าง ๆ ที่มีต่อผู้รับคำปรึกษาเป็นกันเอง ไม่อยู่ห่างหรือชิดกันเกินไป การนั่งตามสบาย

ใบหน้าที่แสดงออกสอดคล้องกับความรู้สึกที่เป็นจริง เช่น แสดงความเห็นใจ และความเต็มใจที่จะช่วยเหลือ

    1.3  น้ำเสียง

    น้ำเสียงที่ใช้พูดคุยแบบเป็นกันเองจะช่วยให้ผู้มีปัญหาสบายใจ จังหวะพูดช้า-เร็วพูดไม่ยาวมากนัก

เพื่อให้เข้าใจง่าย น้ำเสียงสูงต่ำตามพอสมควร น้ำเสียงที่ดังจนเกินไปอาจเป็นการแสดงว่ารักษาความลับไม่ได้

อาจทำให้ผู้รับคำปรึกษารู้สึกไม่สบายใจที่จะแสดงออกซึ่งความรู้สึก

    1.4  การพูด

    ทำการพูดคุยแบบเป็นกันเอง และพูดอยู่ในเรื่องราวที่เกี่ยวกับปัญหาหรือเรื่องที่ผู้รับคำปรึกษา

ต้องการปรึกษาในขณะนั้น  ไม่ควรพูดเรื่องอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง  ซึ่งผู้มีปัญหาจะรู้สึกว่าเราเปลี่ยนเรื่องไม่สนใจ

ปัญหาเรื่องราวของเขา  แต่บางครั้งผู้ให้คำปรึกษาแนะแนวอาจคิดไม่ออกว่าจะพูดอย่างไรดี ก็ไม่ควรหยุดเฉย

ไม่สนใจ  แต่ควรพูดในเรื่องที่ผู้รับคำปรึกษาเคยกล่าวมาแล้ว เป็นการแสดงว่าผู้ให้คำปรึกษาสนใจ เอาใจใส่

เขาอยู่

2)  ทักษะในการฟัง (Listening skill)

ผู้ให้คำปรึกษาแนะแนวต้องมีความสนใจเอาใจใส่รับฟังปัญหาของผู้รับคำปรึกษา  เพื่อให้ผู้รับ

คำปรึกษาแนะแนวได้พูดและระบายความรู้สึกต่าง ๆ ที่อัดอั้นตันใจออกมา

    2.1  การฟังเป็นสิ่งจำเป็นมากสำหรับผู้ให้คำปรึกษาแนะแนว  โดยตั้งใจฟังเรื่องราวหรือปัญหาที่

ผู้มีปัญหาพูดออกมา   ตอบรับสั้น ๆ บ้างเป็นครั้งคราว  เช่น  ครับ  ค่ะ  เข้าใจแล้วเป็นต้น  ท่าทีของผู้ให้

คำปรึกษาแนะแนวควรอยู่ในลักษณะสบาย ๆ ไม่เครียด  เพราะถ้าผู้รับคำปรึกษามีความรู้สึกว่าบรรยากาศ

เครียด  เขาก็จะเครียดไปด้วย การตั้งใจฟังจะช่วยให้ผู้รับคำปรึกษาพูดออกมาได้  ยิ่งพูดออกมามาก  ทำให้เรา

รู้ข้อมูลมาก  สามารถทราบสาเหตุแห่งปัญหา  อีกทั้งช่วยเป็นการระบายความทุกข์ของผู้รับการปรึกษาให้

คลายลงไปด้วย

    2.2  การเงียบ

    การเงียบเป็นเทคนิคอย่างหนึ่งในการสนใจตั้งใจฟัง  มักใช้หลังจากที่ผู้ให้คำปรึกษาแนะแนวได้

ถามผู้รับคำปรึกษาไปแล้ว  เพื่อรอคำตอบ  บางครั้งผู้รับคำปรึกษาอาจใช้ความคิดที่จะเรียบเรียงที่จะพูด  

ยิ่งเรื่องที่ต้องการปิดเป็นความลับด้วยแล้ว  ยิ่งลำบากใจที่ผู้รับคำปรึกษาจะพูดออกมา  อย่างไรก็ดี  ไม่ควร

เงียบนานเกินไป  การเงียบรอคำตอบนี้มักใช้เวลา  2 - 3  นาที  หากเขายังเงียบอยู่  อาจต้องกระตุ้นให้ผู้รับ

คำปรึกษาพูด  เช่น  โดยการกล่าวกระตุ้นให้พูดออกมา  หรือถามความรู้สึกหรือความคิดของผู้รับคำปรึกษา

ในขณะนั้น

    2.3  การทบทวนซ้ำ

    การทบทวนซ้ำ  คือการที่ผู้ให้คำปรึกษาแนะแนวใช้ถ้อยคำของผู้รับคำปรึกษาตามความหมายเดิม

เพื่อให้ผู้รับคำปรึกษาได้เข้าใจเรื่องราวและปัญหาของตน  ผู้ให้คำปรึกษาแนะแนวจะต้องจับใจความตาม

เนื้อหาที่พูดและความรู้สึกของเขาให้ได้  แล้วมาพูดเสียใหม่ด้วยการพูดของผู้ให้คำปรึกษาเอง

    2.4  การทำให้กระจ่างชัด

    เทคนิคการทำให้กระจ่างชัด   มักกล่าวถึงคำพูดที่ผู้รับคำปรึกษาพูดออกมาโดยไม่เปลี่ยนเนื้อหา

คำพูดนั้นใหม่  ช่วยทำให้ผู้รับคำปรึกษารู้สึกว่าผู้ให้ปรึกษาแนะแนวเข้าใจเขาและเข้าใจแจ่มชัดขึ้น  การทำให้

กระจ่างนี้มักจะเริ่มด้วยคำพูดกล่าวนำก่อนแล้วต่อด้วยคำพูดของผู้รับคำปรึกษาเอง

    2.5  การสะท้อนความรู้สึก

การสะท้อนความรู้สึกเป็นเทคนิคที่มีความสำคัญและมีประโยชน์มากที่จะแสดงอารมณ์ความรู้สึก

ออกมาโดยนำเอาข้อความหรือคำพูดของผู้รับคำปรึกษามาแปลความแล้วจัดคำพูดนั้น ๆ เสียใหม่ เพื่อ

สะท้อนให้เห็นเด่นชัด  มักจะเริ่มต้นด้วยคำพูดที่ว่า “คุณรู้สึกว่า…”  เป็นการเน้นความรู้สึกของผู้รับ

คำปรึกษา  ซึ่งจะช่วยให้เขารับรู้และเข้าใจความรู้สึกที่แท้จริงของเขา

    2.6  การสรุปความ

    การสรุปความเป็นการรวบรวมเรื่องราวต่าง ๆ ที่ได้พูดคุยมาแล้ว    ซึ่งอาจมีหลายเรื่องด้วยกัน

บางครั้งอาจเกิดความสับสนได้  การสรุปความจึงมีความจำเป็นและควรครอบคลุมทั้งเนื้อหาและความรู้สึก

ต่าง ๆ ที่ได้พูดคุยกันมา  ไม่นำความคิดใหม่ ๆ เพิ่มเติมเข้าไปเพราะจะทำให้สับสนได้ง่าย   การสรุปความจะ

ช่วยทำให้ผู้รับคำปรึกษาเข้าใจปัญหาของตนได้เด่นชัดขึ้นด้วย


ทักษะในการฟัง  ซึ่งเริ่มจากสนใจตั้งใจฟังผู้รับคำปรึกษาพูดแล้ว  บางครั้งอาจเงียบเพื่อช่วยกระตุ้น

ให้ผู้รับคำปรึกษาพูดออกมา  รวมทั้งการทำให้กระจ่าง  การทบทวนประโยคการสะท้อนความรู้สึกและสรุป

ความ  โดยให้ผู้ให้คำปรึกษาแนะแนวพูดออกไปบ้างตามเทคนิคดังกล่าว  จะช่วยให้การสนทนาไม่หยุดชะงัก

กระตุ้นให้ผู้รับคำปรึกษาได้ระบายคำพูด ความรู้สึกและอยากพูดถึงปัญหาข้อคับใจต่าง ๆ ออกมา และยังช่วย

ให้ผู้รับคำปรึกษาเข้าใจตนเองมากขึ้น

เพื่อให้การฟังได้ผลดีมีประสิทธิภาพ  ผู้ให้คำปรึกษาแนะแนวพึงเข้าใจถึงความต้องการของผู้รับ-

คำปรึกษาที่มีปัญหาทางด้านสังคมจิตใจ  โดยทั่ว ๆ ไป  ผู้รับคำปรึกษามักมีความต้องการพิเศษ  7  ประการ  

สอดคล้องกับหลักการให้คำปรึกษาแนะแนวที่กล่าวมาแล้วข้างต้น   กล่าวคือ

(1)  ต้องการที่จะได้รับการปฏิบัติพิเศษเฉพาะบุคคล  มิใช่เป็นบุคคลประเภทหนึ่ง

(2)  ต้องการแสดงออกซึ่งความรู้สึก  ไม่ว่าผู้ฟังจะฟังจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ตาม  ผู้ฟัง

       พึงฟังด้วยความเอาใจใส่  จับประเด็นต่าง ๆ เพื่อที่จะเข้าใจพฤติกรรมของผู้รับคำปรึกษา

(3)  ต้องการที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นบุคคลที่มีค่ามีเกียรติภูมิ  ผู้ให้คำปรึกษาแนะแนว  จึงพึง

       ทักทายยิ้มและต้อนรับด้วยดี  ไม่ขัดแย้งโดยไม่จำเป็น

(4)  ต้องการที่จะได้รับความเห็นอกเห็นใจและเข้าใจผู้รับคำปรึกษา  ไม่มีอคติไม่ทึกทักเอาว่า

       ผู้รับคำปรึกษาเป็นบุคคลประเภทนั้นประเภทนี้

(5)  ต้องการที่จะไม่ถูกประณามหรือตำหนิติเตียน  ผู้ให้คำปรึกษาแนะแนวจึงพึงมีความอดทน

       ควบคุมอารมณ์ของตนเอง

(6)  ต้องการที่จะตัดสินใจด้วยตนเอง  เพื่อหาแนวทางที่ดีที่สุดเพื่อป้องกันแก้ไขปัญหาของเขา  

       ผู้ให้คำปรึกษาแนะแนวจึงพึงไม่ตัดสินใจแทนหรือตัดสินใจก่อน

(7)  ต้องการที่จะให้ผู้ให้คำปรึกษาแนะแนวรักษาความลับของตน  เป็นคนมีจรรยาบรรณ  มิเอา

       เรื่องราวของผู้รับคำปรึกษาไปให้ผู้อื่นรู้  เว้นแต่เจ้าหน้าที่ในสายงานเพื่อวัตถุประสงค์ที่จะ

       ช่วยเหลือ

ทักษะในการฟังเป็นการปูพื้นเพื่อรับทราบปัญหาหลังจากได้สร้างสัมพันธภาพสนิทสนมกัน

แล้วช่วยให้ผู้รับคำปรึกษายอมรับมากขึ้น


3)  ทักษะในการตอบโต้ (Responding skill)

ทักษะในการตอบโต้เมื่อสนทนาหรือคุยกับผู้รับคำปรึกษา  หลังจากใช้ทักษะการฟังมาแล้ว  ซึ่งทำ

ให้ผู้ให้คำปรึกษาแนะแนวได้รับข้อมูลมาเพียงพอ  มีความสนิทสนมกันดีขึ้นแล้ว  จะช่วยให้ผู้รับคำปรึกษา

เข้าใจปัญหาของตนดีขึ้น  การตอบโต้นี้ถ้าเร็วเกินไป  อาจทำให้ผู้รับคำปรึกษาปฏิเสธความช่วยเหลือหรือ

ไม่มารับบริการอีก  วัตถุประสงค์ของทักษะในการตอบโต้มุ่งหวังให้ผู้รับคำปรึกษาเกิดความต้องการที่จะ

เปลี่ยนแปลง และแสดงออกซึ่งพฤติกรรมตามที่หวังไว้


ทักษะในการตอบโต้มีเทคนิคที่สำคัญ ๆ คือ

3.1  การซักถาม

การซักเพื่อหารายละเอียดอันจะเป็นประโยชน์ต่อการช่วยเหลือผู้รับคำปรึกษานั้นจำเป็น

มากที่จะทราบข้อมูล  ซึ่งผู้ให้คำปรึกษาแนะแนวมักจะใช้คำถามให้ตอบด้วยคำถามว่า  “อะไร”  “อย่างไร”  

“เมื่อไร”  “ที่ไหน”  “ใคร”  ซึ่งผู้รับให้คำปรึกษาจะตอบในรายละเอียดอย่างสบาย ๆ ยิ่งสนิทสนมกันก็ยิ่งตอบ

ในรายละเอียดได้มาก  แต่มักไม่ซักด้วยคำถาม  “ทำไม”  เพราะคำถามนี้ผู้ตอบมักจะตอบโดยปกป้องตัวเอง 

บางทีมีปฏิกิริยาต่อต้านออกมานอกจากนี้คำถาม “ทำไม” จะทำให้ผู้ตอบรู้สึกว่าเป็นการกล่าวโทษหรือตัดสิน

ว่าผิดหรือถูก  ทำให้ตนเองรู้สึกต้องปกป้องตนเองได้  ผู้ให้คำปรึกษาอาจใช้เทคนิคเปลี่ยนจาก “ทำไม” มาใช้

“อะไร” แทนได้  แล้วความรู้สึกดังกล่าวของผู้รับปรึกษาจะลดลงมาก

3.2  การสนับสนุนกำลังใจ

เทคนิคนี้เพื่อกระตุ้นให้ผู้รับคำปรึกษารู้สึกว่ามีผู้ให้กำลังใจเขา   เขามิได้เผชิญปัญหาอยู่

คนเดียวช่วยให้ผู้รับคำปรึกษารู้ว่าเขามีความสามารถ มีศักยภาพที่จะทำอะไรได้  มีความริเริ่มที่จะต่อสู้รวมถึง

มีความมั่นใจในตนเองมากขึ้น  ปกติแล้ว  ผู้รับคำปรึกษาบางคนขาดความริเริ่มไม่กระตือรือร้น   จึงจำเป็นที่

จะต้องใช้เทคนิคนี้  เช่น  การกระตุ้นให้พูดออกมา  เทคนิคนี้ยังใช้สำหรับกระตุ้นให้มีความคิดริเริ่ม  สำหรับ

ผู้ที่ขาดความมั่นใจในตนเอง  

เทคนิคการตอบโต้อย่างให้กำลังใจนี้  อาจนำมาใช้เพื่อชักจูงใจหรือแนะนำพฤติกรรม

บางอย่างที่เป็นประโยชน์ต่อผู้รับคำปรึกษาด้วย

3.3  การเผชิญหน้า

เทคนิคนี้ผู้ให้คำปรึกษาแนะแนวใช้เมื่อผู้รับคำปรึกษามีความสับสน  หรือขัดแย้งระหว่าง

พฤติกรรมและความคิดความรู้สึกของตน  ทั้งนี้เพื่อช่วยให้ผู้รับคำปรึกษาได้รับรู้ถึงความขัดแย้งดังกล่าวและ

นำมาวิเคราะห์ตนเองแม้ว่าจะทำให้เกิดความรู้สึกเจ็บใจอยู่บ้าง  เพื่อจะได้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมให้ไปสู่

พฤติกรรมที่เหมาะสมมีประโยชน์ต่อตนเอง

การใช้เทคนิคนี้มักจะใช้เมื่อมีข้อมูลต่าง ๆ เพียงพอ  และผู้ให้คำปรึกษาแนะแนวกับผู้รับ

คำปรึกษามีความสนิทสนมพอควรแล้ว ไม่ควรใช้เทคนิคนี้บ่อย ๆ อาจใช้เพียงครั้งเดียวในระยะที่ปรึกษากัน

หากใช้บ่อยจะไม่เกิดผลดี ผู้รับคำปรึกษาจะรู้สึกว่าเป็นการตำหนิติเตียน ไม่เห็นด้วยหรือรู้สึกขัดแย้งกันแต่ที่

จำเป็นต้องใช้อาจเนื่องจากผู้รับคำปรึกษาไม่รับความจริงและใช้กลไกปกป้องตนเอง (defense  mechanism)

มีความขัดแย้งในจิตใจทำให้สับสนยังไม่พร้อมที่จะเผชิญกับความจริง  มักแสดงออกอย่างไม่เห็นด้วยกับ

ผู้ให้คำปรึกษาแนะแนว  แต่ก็อยากขอความช่วยเหลือ  เพราะทนต่อปัญหาของตนไม่ใคร่ได้  เทคนิคนี้ยังใช้

กับผู้รับคำปรึกษาที่ยอมรับคำปรึกษาแนะนำของผู้ให้คำปรึกษาเร็วเกินไป  เป็นการยอมรับอย่างหลอก ๆ เพื่อ

จะไม่ถูกซักในประเด็นต่าง ๆ อีก  การใช้เทคนิคการเผชิญหน้าเพื่อวัตถุประสงค์สำคัญที่ให้ผู้รับคำปรึกษายอมรับความจริง กล้าที่จะเผชิญอย่างเต็มใจที่จะแก้ปัญหา  จึงต้องการที่จะสำรวจตนเองแล้วปรับปรุง

พฤติกรรมของตนให้เหมาะสมนั่นเอง

3.4  การตีความหมาย

เทคนิคนี้หมายถึงการตีความหรือแปลความหมายเพื่อให้ผู้รับคำปรึกษาเข้าใจถึงปัญหา

ของตน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพฤติกรรม ความคิด ความรู้สึกที่เขาได้แสดงออก  แม้ว่าเขามิได้เปิดเผยมาตรง ๆ 

แต่การแสดงออกจะมีความหมายทั้งสิ้น  การตีความหรือแปลความหมายเพื่อให้ทั้งผู้ให้คำปรึกษาแนะแนว

มีความเข้าใจและเห็นใจ ร่วมกันสื่ออารมณ์กันได้และเข้าใจความจริง  การตีความหรือแปลความหมายจึงเป็น

เทคนิคที่ทำให้ผู้รับคำปรึกษาเชื่อถือมีศรัทธาในตัวผู้ให้คำปรึกษาแนะแนวมากขึ้น  มีความสัมพันธ์ดีขึ้น  จึงยอมเปิดเผยตนเองมากขึ้น  ทำให้ผู้รับคำปรึกษาได้สำรวจตนเองไปด้วย  เมื่อผู้ให้คำปรึกษาแนะแนวและ

ผู้รับคำปรึกษาเห็นใจและเข้าใจร่วมกันย่อมช่วยให้ผู้รับคำปรึกษามีความเข้าใจตนเอง  ปรับปรุงเปลี่ยนแปลง

พฤติกรรมของตนให้มีความสุขในชีวิต  ดังนั้น  ผู้ให้คำปรึกษาแนะแนวจึงควรใช้เทคนิคให้เหมาะสมกับ

กาลเทศะ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ผู้รับคำปรึกษาพร้อมที่จะรับฟังและทำความเข้าใจ

เทคนิคนี้มีจุดอ่อนที่สำคัญประการหนึ่ง  คือ  ผู้ให้คำปรึกษาแนะแนวมีอคติ  ซึ่งทำให้ตนเอง

ใช้ประสบการณ์ที่ผ่านมาในอดีตของตนที่จะต่อต้านพฤติกรรมบางอย่าง  อาทิ  เช่น  คนมีปัญหาชีวิตคู่ทำให้

ไม่อยากแต่งงาน  เลยตีความและให้คำปรึกษาแนะแนวไปในทางเดียวกับตน  ซึ่งไม่สมควรอย่างยิ่ง  เพราะ

ชีวิตของผู้รับคำปรึกษาแนะแนว  อีกประการหนึ่งพึงตระหนักว่า  เทคนิคการตีความหมายควรได้ข้อมูลพอ

สมควรและแปลความหมายช้า ๆ เพื่อให้ผู้รับคำปรึกษาเข้าใจอย่างแท้จริง  ผู้ให้คำปรึกษาแนะแนวพึงสังวรณ์

เสมอว่าผู้รับคำปรึกษายอมรับโดยเร็วอาจเพื่อเอาใจผู้ให้คำปรึกษาแนะแนว หรือในกรณีที่คัดค้านหรือปฏิเสธ

การตีความเมื่อได้ข้อเพิ่มเติมก็ย่อมจะตีความให้ชัดเจนอีกครั้งหนึ่ง  เพื่อความเข้าใจร่วมกัน

ทักษะในการฟัง  และทักษะในการตอบโต้เป็นทักษะที่ใช้ปฏิบัติเป็นประจำและใช้ต่อเนื่องกัน

เพื่อสะท้อนอารมณ์และความรู้สึกอย่างเหมาะสมให้ถูกกาลเทศะ  ผู้ให้คำปรึกษาจึงต้องมีทัศนคติที่ดีต่อผู้รับ

คำปรึกษา ไม่วิพากษ์วิจารณ์  ตำหนิติเตียน  หรือประณาม  ไม่รีบด่วนให้คำปรึกษาแนะแนว  ควรหาข้อมูลที่

เป็นจริงและให้ผู้รับคำปรึกษาได้มีโอกาสระบายความรู้สึกต่าง ๆออกมาให้มากที่สุดที่จะทำได้ผู้ให้คำปรึกษา

แนะแนวจะสามารถตอบสนองต่อความรู้สึกและอารมณ์ของผู้รับคำแนะนำได้


4)  ทักษะในการเปิดเผยตนเอง (Self disclosure skill)  

การเปิดเผยตนเองถึงความรู้สึกของผู้ให้คำปรึกษาแนะแนวเป็นเทคนิคอย่างหนึ่งในการให้คำปรึกษา

แนะแนว  เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ให้คำปรึกษา อีกทั้งผู้รับคำปรึกษาจะได้เอาอย่างผู้ให้คำปรึกษาแนะแนวด้วย วัตถุประสงค์ในการเปิดเผยนี้ เพื่อให้มีบรรยากาศที่เป็นกันเอง ช่วยให้ผู้รับคำปรึกษาที่จะบอกเรื่อง

ราวต่าง ๆ ของตน  เมื่อผู้รับคำปรึกษารู้สึกว่าผู้ให้ตำปรึกษาก็เคยมีลักษณะคล้าย ๆ กับตน ก็จะช่วยให้รู้สึก

สบายใจขึ้นไม่มีช่องว่างระหว่างกัน  อยากรู้ทางออกหรือแนวทางแก้ไขปัญหาของผู้ให้คำปรึกษาแนะแนว

ได้เรียนรู้ด้วยตนเองที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและทัศนคติของตนใจทางสร้างสรรค์ต่อไป



การเปิดเผยตนเองนี้จะเกิดประโยชน์ต่อผู้รับคำปรึกษาที่จะเปิดเผยเรื่องทั่ว ๆ ไปของเขา  เช่น  เรื่อง

ความไม่สบายใจ  เป็นต้น เรื่องส่วนตัวที่ไม่ลึกซึ้งมาก  เรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับจุดเด่นและจุดอ่อนของเขา เพราะ

เรื่องเหล่านี้ผู้ให้คำปรึกษาก็มีเช่นกันในฐานะปุถุชน  เมื่อผู้ให้คำปรึกษาริเริ่มที่จะเปิดเผยเรื่องของตนก่อน

ย่อมทำให้ผู้รับคำปรึกษาเรียนรู้และเปิดเผยตนเองมากขึ้น

5)  การมุ่งที่ปัจจุบัน (Immediacy)  และทักษะที่นำมาประยุกต์ใช้  (Integrating skill)

การให้คำปรึกษาแนะแนวเป็นการสะท้อนความคิด  ความรู้สึกของผู้ให้คำปรึกษาในที่นั้น ขณะนั้น

(Here and now)  โดยใช้เทคนิคต่าง ๆ ดังกล่าวแล้ว  เพื่อที่จะเปิดเผยเรื่องราวและความรู้สึกต่างๆ ออกมา

โดยปกติผู้รับคำปรึกษามักเก็บกดความรู้สึกหรือปกปิดเหตุการณ์  และความรู้สึกบางอย่างเอาไว้

บางครั้งผู้รับคำปรึกษามีความรู้สึกต่อต้านด้วย  ซึ่งเป็นการยากที่จะทำให้ความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่ายเป็น

ไปด้วยดี  จึงต้องเริ่มจากปัจจุบันก่อน  ไม่ก้าวลึกลงไปถึงอดีต  โดยเฉพาะระยะแรกของการติดต่อกัน  ท่าที

ต่าง ๆ ของผู้ให้คำปรึกษาแนะแนวและผู้รับคำปรึกษาจึงนับว่าสำคัญมาก 

การมุ่งปัจจุบันจึงเน้นประเด็นสำคัญ  3  ประการ  คือ

(1)  เน้นที่ตัวผู้ให้คำปรึกษาแนะแนว

(2)  เน้นที่ผู้รับคำปรึกษา

(3)  เน้นที่สัมพันธภาพที่เกิดขึ้น  ณ  ที่นั้น  ขณะนั้นของบุคคลทั้งสอง

การมุ่งที่ปัจจุบันจะต้องใช้เทคนิคและทักษะต่าง ๆ ที่ได้ศึกษามาแล้ว  โดยนำมาประยุกต์ใช้

ให้เหมาะสมโดยผสมผสานกันทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ผู้ให้คำปรึกษาแนะแนวและผู้รับคำปรึกษาได้พูดคุย

กันแบบเป็นกันเองในแต่ละครั้ง  ไม่ควรจะเร็วหรือนานเกินไป  โดยทั่วไปจะใช้เวลาประมาณ 30-45  นาที  

เมื่อหมดเวลาแล้ว  ก็อาจนัดครั้งต่อไปอีกได้

8.  ข้อคิดในการฟัง  ในกระบวนการให้คำปรึกษาแนะแนว

    1)  หยุดพูด -  คนเราไม่สามารถรับฟังในขณะที่พูดได้

    2)  เอาใจเขามาใส่ใจเรา -  พยายามนึกว่าเรากำลังอยู่ในสถานการณ์ของผู้พูด  เพื่อจะได้

    มองเห็นเหตุผลและผลชัดเจนและจะได้เข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า

    เขาพยายามจะสื่ออะไรให้เราทราบ

    3)  ถามคำถาม -  เมื่อไม่เข้าใจสิ่งที่ผู้พูดต้องการขอคำอธิบายเพิ่มเติม โดยถาม

    คำถามและคำถามที่ใช้นั้นไม่เป็นลักษณะประชดประชันจับผิด

    โจมตี  หรือทำให้เขาเกิดความสับสน  ไม่ควรตั้งคำถามที่ทำให้     

    สนทนารู้สึกไม่สบายใจหรืออึดอัดใจที่จะตอบ  หากจำเป็นต้อง

    ถามก็ควรพูดเกริ่นว่า “ขออนุญาตถามเรื่องส่วนตัว  ถ้าคุณ

    ไม่อยากตอบ จะไม่ตอบก็ได้”


    4)  รู้จักอดทน -  อย่าแทรกขณะผู้อื่นกำลังพูด  ให้เวลาแก่เขาพูดในสิ่งที่เขา

    ต้องการจะพูด

    5)  ใส่ใจในสิ่งที่ผู้พูดกำลังพูด -  ให้ความสนใจในคำพูด ความคิด ความรู้สึกของเรื่องที่เขาพูด

    6)  พิจารณาผู้พูด -  พิจารณาท่าทาง สีหน้า ริมฝีปาก แววตา หรือการวางมือจะช่วย

    การสื่อสารระหว่างผู้พูดกับเราได้มากขึ้น  และการพิจารณา

    ดังกล่าวจะช่วยรวบรวมความใส่ใจไว้เป็นจุดเดียวได้ด้วย และ

    จะช่วยให้ผู้พูดรู้สึกว่าเรากำลังฟังเขาอย่างตั้งใจ

    7)  ยิ้มและกล่าวรับให้เหมาะสม -  ในขณะกำลังฟังควรผงกศีรษะยิ้มหรือพูด  “ค่ะ”  “ครับ”  บ้าง

    เป็นการสนับสนุน ให้กำลังใจผู้พูด จะมีประโยชน์ในการ

    สนทนามาก  แต่อย่าทำมากเกินไป

    8)  สละอารมณ์ตนเอง (ถ้าทำได้) -  พยายามเลิกคิดเลิกนึกถึงสิ่งที่ทำให้กังวลใจความกลัว เลิกนึกถึง

    ปัญหาของตนเองสิ่งต่าง ๆ นี้จะทำให้การฟังไม่มีประสิทธิภาพ

    เท่าที่ควร

    9)  ควบคุมอารมณ์พลุ่งพล่าน -  พยายามที่จะไม่เคืองใจหรือโกรธต่อเรื่องที่ผู้พูดพูด

    ความขุ่นเคืองใจจะเป็นอุปสรรคต่อการที่จะเข้าใจหรือโกรธ

    ต่อเรื่องที่ผู้พูดพูด  เมื่อเราพยายามที่จะเข้าใจผู้อื่น  พยายาม

    ไม่โต้เถียงหรือขัดคอ

    10)  ขจัดสิ่งที่เขวความสนใจ  -  พยายามไม่ถือปากกา  ดินสอ  กระดาษ  หรืออื่น ๆ ขณะตั้งใจ

    ฟังเพราะสิ่งเหล่านี้มักจะทำให้เขวความสนใจ ปิดบัง

    การสื่อสารและก่อความรำคาญแก่คู่สนทนา

    11)  พยายามจับประเด็นสำคัญ        -  พยายาม หาแก่นสารของเรื่องที่พูด ไม่เก็บเอารายละเอียด

    ปลีกย่อยที่ไม่จำเป็น 

    12)  ร่วมมีส่วน - โดยพยายามฟังเพื่อให้เข้าใจ ถ้าไม่เข้าใจ หน้าที่ของผู้ฟัง  คือ

    ซักถามเพื่อให้เกิดความเข้าใจ

    13)  ตอบโต้สิ่งที่คิด มิใช่บุคคล -  พิจารณาความคิดที่ผู้พูดและตอบโต้ความนึกคิดเท่านั้น เพราะ

    การมีอคติต่อผู้พูด เช่น ไม่ชอบผู้พูดจะทำให้การฟังลด

    ประสิทธิภาพลงไป

    14)  อย่านึกค้านเสียร่ำไป -  การมีความคิดที่ค้านหรือโต้แย้งอยู่ในใจ จะทำให้ฟังได้อย่าง

     เต็มที่

    15)  ใช้ประโยชน์ของความเร็วในการคิด -  ปกติคนเราจะฟังได้เร็วกว่าพูด ดังนั้นขณะที่ผู้อื่นพูด  การฟัง

    อย่างตั้งใจจะทำให้เราจับใจความที่สำคัญของผู้พูดได้  และ

    ทบทวนสาระสำคัญก่อนจะพูดออกไป

    16)  พยายามฟังสิ่งที่ผู้พูดไม่ได้พูด -  บางครั้งเราอาจจะรู้จักพูดได้ดีขึ้นจากสิ่งที่เขาหลีกเลี่ยงจะพูดถึง

   หรือไม่พูดถึงเลย

    17)  พยายามจับอารมณ์และความคิด - ปกติเรามักจะสนใจในเนื้อหาสาระของสิ่งที่พูดมากกว่าอารมณ์ 

   และทัศนคติที่เกี่ยวข้องแฝงเร้น  ซึ่งสิ่งนี้มักจะสำคัญมากกว่า

   เนื้อหาที่สุด

    18)  พยายามไม่ขัดแย้งกับผู้พูด -  ผู้ฟังเองอาจจะเป็นเหตุให้ผู้พูดปิดบังอำพรางความคิดอารมณ์

    และทัศนคติของเขา โดยการที่ผู้ฟังแสดงการไม่เห็นด้วย 

    โต้แย้ง ติเตียน วิพากษ์วิจารณ์ จดบันทึกหรือถามคำถาม

     บางอย่าง  ผู้ฟังจึงต้องพยายามอย่างยิ่งที่จะระมัดระวังไม่ให้

     ท่าทีการกระทำและคำพูดของตนไปกระทบกระเทือนผู้พูด

    เวลาพูด และต้องพยายามปรับการโต้ตอบให้มีประสิทธิภาพ

    ยิ่งขึ้น

    19)  พยายามเข้าใจ “บุคลิก” ของผู้พูด     -  วิธีที่ดีที่สุดวิธีหนึ่งที่จะเข้าใจบุคคล คือการฟังคำพูด ผู้ฟัง

    สามารถจะทราบถึงสิ่งที่เขาชอบหรือสิ่งที่ไม่ชอบ แรงจูงใจ

    ค่านิยม ทัศนคติ แล ฯลฯ

    20)  หลีกเลี่ยงการทึกทัก       -  ในการพยายามเข้าใจผู้อื่น  ผู้ฟังที่ดีจะต้องคิดว่าผู้พูดอาจใช้

    ภาษาแตกต่างไปจากที่ตนใช้ และไม่คิดว่าผู้พูดไม่พูดอย่างที่

    เขาต้องการ แต่ตนเข้าใจว่าเขาต้องการอะไร การทึกทักอาจจะ

    ถูกต้องเป็นจริงก็ได้  แต่ปกติการทึกทักจะทำให้สิ้นสุดการ-

    สนทนาเร็วขึ้นโดยไม่ได้สิ่งที่ต้องการ จึงควรหลีกเลี่ยงการ-

    ทึกทัก แต่เลือกใช้คำถามที่เหมาะสมหรือการทำให้กระจ่าง

    21)  หลีกเลี่ยงการ “จัดหมู่ผู้พูด” -  บ่อยครั้งมากที่เราคิดว่าคน ๆ นี้ต้องเป็นอย่างนี้ และพยายาม

    แปลความทุกอย่างที่เขาพูดไปตามการประเมินนั้น ซึ่งอาจจะมี

    ประโยชน์  ในบางแง่แต่จะไม่ถูกต้องทั้งหมดเพราะในชีวิตจริง

    คนเรามีบทบาทอื่น ๆ อีกหลายอย่าง

    22)  หลีกเลี่ยงการตกลงหรือตัดสิน -  ควรคอยจนได้ข้อเท็จจริงครบถ้วนแล้วจึงจะตัดสินใจหรือ

            อย่างรีบด่วน         ตกลงใจเพื่อกิจกรรมบางอย่าง

    23)  ตระหนักถึงอคติของตน -  พยายามตระหนักหรือมีสติเตือนตนถึงอารมณ์ของตนเองต่อ

    ผู้พูดและเรื่องที่พูด เพราะอาจจะทำให้เกิดการฟังที่ไม่สมบูรณ์




9.  เทคนิคในการให้คำปรึกษาแนะแนว    

ในการให้คำปรึกษาแนะแนว เป็นเรื่องละเอียดอ่อนพอสมควร ที่ผู้ให้คำปรึกษาแนะแนว (Counsellor) พึงปฏิบัติต่อผู้รับคำปรึกษาแนะแนว (Counsellee หรือ Client ) อย่างเอาใจใส่ เพราะปัญหา

มักเกี่ยวข้องกับอารมณ์ จิตใจและพฤติกรรมบางประการ ซึ่งอาจเป็นปัญหาที่ลึกซึ้ง เปิดเผยได้ยาก ผู้มีปัญหา

มักจะอาย ทำให้ผู้ให้คำปรึกษาแนะแนวต้องมีทัศนคติที่เป็นกันเอง น่านับถือ ไว้ใจได้ สามารถรักษาความลับ

ได้  และมีทักษะในการให้คำปรึกษาแนะแนวด้วย  ด้วยเหตุนี้ผู้ให้คำปรึกษาแนะแนวจึงมักจะต้องรู้จักเทคนิค

ในการให้คำปรึกษาแนะแนวและนำเทคนิคดังกล่าวมาประยุกต์ใช้ตามความเหมาะสม เทคนิคที่มีใช้เสมอ ๆ 

เป็นประจำ คือ

1)  Rapport    คือ การสร้างสัมพันธภาพที่อบอุ่นใจเป็นกันเองระหว่างผู้ให้คำปรึกษาแนะแนวและ

        ผู้รับคำปรึกษาไม่ติเตียนหรือว่ากล่าวผู้รับคำปรึกษา เพราะตระหนักดีว่าผู้รับคำปรึกษา

        เป็นผู้ที่มีความทุกข์ใจอยู่แล้ว

2)  Release    คือ การระบายความเครียดในอารมณ์ซึ่งผู้รับคำปรึกษามีอยู่  เพราะตระหนักว่าการระบาย

        ออกของความเครียด  หรือความทุกข์ใจออกไปได้ จะทำให้สบายใจบ้าง ยิ่งระบายออก

        มากเพียงใดยิ่งดี  เมื่อได้ระบายออกแล้วจะสามารถรับความรู้ใหม่หรือเปลี่ยนแปลง

        ตนเองได้

3)  Reassure   คือ การสร้างความมั่นใจให้เกิดขึ้นแก่ผู้รับคำปรึกษาแนะแนว  ทั้งนี้  เพราะความมั่นใจ

        ในตนเองของผู้มีความทุกข์ใจลดลงไป  การช่วยให้รู้สึกว่าได้รับความสนับสนุน

        เห็นอกเห็นใจ  เขามิได้อยู่ตามลำพังอีกแล้ว  จะช่วยให้ผู้รับคำปรึกษารู้สึกตัวว่าตนเอง

        ดีขึ้น  สบายใจขึ้น  มีเพื่อนมีที่ปรึกษา  ไม่เดียวดายอย่างแต่ก่อน

4)  Reeducate คือ  การให้การศึกษาใหม่  มีความรู้ใหม่หรือรู้สึกเปลี่ยนแปลงความเชื่อเก่า ๆ ที่ไม่จริง  

        ไม่ถูกต้องตามหลักวิชา  ทำให้รู้สึกว่าเมื่อได้ความรู้ใหม่เป็นการพัฒนาตนเองให้

        มีค่าขึ้น หาทางออกได้  ได้สำรวจตนเองเข้าใจปัญหาของตนมากขึ้น 

        เป็นการสนับสนุนให้เขาได้รู้จักเข้าใจตนเอง

5)  Relax          คือ  การเรียนรู้อย่างสบาย ๆ ไม่เร่งเร้า  ได้พักใจไม่ครุ่นคิดอย่างแต่ก่อน  จิตใจสบายขึ้น  

        ไม่เสียสุขภาพจิต  ได้พักทั้งทางกายและทางใจเพื่อจะได้พัฒนาตนเองให้ดีขึ้นได้

6) Recreate   คือ  การสร้างสรรค์เปลี่ยนแปลงบุคลิกภาพของผู้รับคำปรึกษาให้สามารถตัดสินใจเลือก

        แนวทางในการแก้ปัญหาด้วยตนเองอย่างมั่นใจ  วางแผนในการแก้ไขปัญหาได้  

        เป็นที่พอใจของตนทำให้สบายใจขึ้น  มีค่าและมีศักดิ์ศรีขึ้น

เทคนิคดังกล่าวนี้  ผู้ให้คำปรึกษาแนะแนวมักใช้ในกระบวนการให้คำปรึกษาแนะแนวโดยเฉพาะใน

ระหว่างสัมภาษณ์พูดคุยกับผู้รับคำปรึกษาแต่ละครั้ง  ทำให้ผู้รับคำปรึกษาได้เรียนรู้ด้วยตนเองไปด้วย  

การเรียนรู้ด้วยตนเองทีละน้อย ๆ จะช่วยให้เขามีความมั่นใจมากขึ้นอีกด้วย


ไม่มีความคิดเห็น:

เครื่องแบบลูกเสือ การแต่งเครื่องแบบลูกเสือ กางเกง  ชายกางเกงขาสั้น ผ้าผูกคอ     ใช้ผ้าผูกคอตามสังกัด   (เช่น ลูกเสือเขตการศึกษา 8  เช...

ค้นหาบล็อกนี้