Translate

หน้าเว็บ

23 ธันวาคม 2562

การชุมนุมรอบกองไฟ

บทที่ 8
การชุมนุมรอบกองไฟ

                การชุมนุมรอบกองไฟเป็นกิจกรรมหนึ่งของการเรียนการสอนกิจกรรมลูกเสือ-เนตรนารี  เป็นสิ่งที่สร้างความเชื่อมั่นอย่างมากให้กับเด็กวัยรุ่น  เด็กในวัยนี้ต้องการแสดงออกเพื่อให้เพื่อนและบุคคลอื่นยอมรับความสามารถของตนเอง    และอีกประการหนึ่ง เด็กในวัยนี้บางคนยังไม่เคยพรากจากบ้าน เมื่อได้มาอยู่รวมกันในหมู่ซึ่งไม่ใช่สมาชิกในบ้าน จึงทำให้เขาคิดถึงพ่อ-แม่ พี่น้อง  ผู้บังคับบัญชาจะต้องจัดให้มีการแสดงเรื่องสั้นที่เป็นคติหรือเรื่องตลกขบขัน     ซึ่งจะทำให้เขาไม่ได้ คิดถึงบ้าน     จึงจัดให้มีการชุมนุมรอบกองไฟ     โดยให้ดำเนินการตามลำดับขั้นตอนการชุมนุมรอบกองไฟ

ในอดีตลอร์ดเบเดน  โพเอลล์  ผู้ให้กำเนิดลูกเสือโลก    โดยท่านได้นำเด็กซึ่งอาจเรียกว่าเป็นลูกเสือ ไปอยู่ค่ายพักแรมที่เกาะบราวน์ซี ประเทศอังกฤษ ในปี ค.ศ. 1907 (พ.ศ. 2450)   และในระหว่างการอยู่ค่ายพักแรม  ในช่วงกลางคืนท่านได้เรียกลูกเสือมาร้อมวงรอบกองไฟ  เล่าเรื่องการสอดแนม ความฉลาดความกล้าหาญของทหาร  เล่านิทาน         ร้องเพลงและเล่นเกมเพื่อความสนุกสนานในระหว่างการอยู่           ค่ายพักแรม        นั้นถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการชุมนุมรอบกองไฟ
การชุมนุมรอบกองไฟ   ในภาษาอังกฤษเรียกว่า Camp Fire  ในภาษาไทยเดิมมักเรียกกันว่า การเล่นหรือการแสดงรอบกองไฟ   ซึ่งความจริงการเล่นหรือการแสดงเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการชุมนุมรอบกองไฟ     อันอาจกล่าวได้ว่าเป็นบทเรียนหรือวิธีการฝึกอบรมลูกเสืออย่างหนึ่ง

1. ความมุ่งหมายของการชุมนุมรอบกองไฟ
                การชุมนุมรอบกองไฟ มีความมุ่งหมายสำคัญอยู่ 5 ประการ คือ
                (1) เพื่อเป็นการฝึกอบรมในตอนกลางคืน ดังที่ บี-พี ได้ใช้เป็นหลักในการฝึกอบรมเด็กที่ไปอยู่ค่ายพักแรม ณ เกาะบราวน์ซี และได้ใช้เป็นแบบในการเรียบเรียงหนังสือเรื่อง Scouting for Boys (การลูกเสือสำหรับเด็กชาย)
                (2) เพื่อให้ลูกเสือได้ร้องเพลงร่วมกัน หรือแสดงกิริยาอาการอย่างเดียวกัน เป็นการปลุกใจหรือเปลี่ยนอารมณ์ให้เกิดความสนุกสนานเบิกบานใจ ภายหลังที่ได้ปฏิบัติงานในเวลากลางวันมาแล้ว
                (3) เพื่อให้ลูกเสือแต่ละหมู่ได้มีโอกาสออกมาแสดงรอบกองไฟ  เป็นการส่งเสริมความสามัคคีของหมู่ กับให้ลูกเสือแต่ละคนในหมู่รู้จักทำงานร่วมกับผู้อื่น และกล้าแสดงออกในที่ประชุมโดยไม่เก้อเขิน
                (4) ในบางกรณี อาจใช้เป็นโอกาสสำหรับประกอบพิธีสำคัญ เช่น แนะนำให้ลูกเสือรู้จักผู้อำนวยการลูกเสือจังหวัด หรือเจ้าหน้าที่คนใหม่ แขกสำคัญที่มาเยี่ยม  มอบเครื่องหมายวูดแบดจ์ เครื่องหมายตอบแทน เข็มสมนาคุณ หรือประกาศนียบัตรต่างๆ  เป็นต้น
                (5) ในบางกรณีอาจเชิญบุคคลสำคัญในท้องถิ่น ตลอดจนชาวบ้านให้มาร่วมการชุมนุมรอบกองไฟ เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์และส่งเสริมกิจการลูกเสือ
                ที่แล้วมาเราแปลคำว่า Camp Fire ว่าการเล่นหรือการแสดงรอบกองไฟซึ่งเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการชุมนุมรอบกองไฟเท่านั้น  ต่อไปเราเรียกการประชุมในเวลากลางคืนว่า “การชุมนุมรอบกองไฟ”    โดยจัดให้มีการแสดง หรือ การเล่นรอบกองไฟตามสมควรแก่กรณีและในเวลาอันเดียวกัน  เราอาจใช้การชุมนุมรอบกองไฟเพื่อประโยชน์อย่างอื่นดังได้กล่าวแล้วข้างต้นด้วย

2. บริเวณการชุมนุมรอบกองไฟ
                ค่ายลูกเสือทุกแห่งควรมีบริเวณสำหรับการชุมนุมรอบกองไฟ บริเวณเช่นว่านี้ควรอยู่ที่มุมหนึ่งของค่าย มีต้นไม้เป็นฉากหลัง ไม่ใช้เพื่อประโยชน์อย่างอื่นในเวลากลางวัน และควรอยู่ห่างจากที่พักพอสมควร  ทั้งนี้เพื่อให้ลูกเสือจำเป็นต้องเดินจากที่พักไปยังบริเวณการชุมนุมรอบกองไฟ  และต้องเดินกลับเมื่อการชุมนุมเลิกแล้ว ส่วนการที่เสนอแนะว่าบริเวณการชุมนุมรอบกองไฟควรมีต้นไม้เป็นฉากหลังนั้น เป็นเพราะในระหว่างการชุมนุมรอบกองไฟย่อมจะมีการร้องเพลงหมู่เป็นส่วนใหญ่  และการร้องเพลงกลางแจ้งถ้าไม่มีฉากหลัง เช่น การร้องเพลงกลางทุ่งที่ไม่มีต้นไม้เลย ถึงแม้จะร้องเพลงไพเราะอย่างไรก็ตามย่อมไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร  แต่ถ้ามีต้นไม้เป็นฉากหลังจะทำให้บรรยากาศดีขึ้น และจะทำให้การร้องเพลงได้ผลดียิ่งขึ้นด้วย
                อนึ่ง ในการเลือกสถานที่สำหรับการชุมนุมรอบกองไฟนี้ ถ้าสามารถหาที่เป็นแอ่งให้ลูกเสือที่นั่งอยู่เหนือกองไฟเล็กน้อยจะดีมาก  เช่น ในบริเวณที่มีเนินอาจจัดทำบริเวณการแสดงและกองไฟอยู่ตอนล่าง ส่วนลูกเสือให้นั่งอยู่บนเนิน นอกจากนี้เคยมีผู้จัดทำบริเวณการแสดงและกองไฟให้อยู่บนเกาะ มีคูน้ำล้อมรอบ ผู้ชมนั่งอยู่ริมคูอีกด้านหนึ่ง สะพานข้ามคูทำด้วยไม้แบบสะพานชั่วคราว ปรากฏว่าสถานที่ ชุมนุมรอบกองไฟเช่นว่านี้ใช้การได้ดีอย่างยิ่ง  การชุมนุมรอบกองไฟนี้ถ้าไม่สะดวก เช่น ฝนตกหรือมีเหตุผลพิเศษจะจัดภายในอาคารและใช้ที่อื่นแทนได้

3. กองไฟและการจัดที่นั่งรอบกองไฟ
                กองไฟที่ก่อด้วยไม้จริงในปัจจุบันนี้  เรื่องสิ่งแวดล้อมกำลังมีปัญหาต่อมนุษยโลก จึงไม่สนับสนุน ควรที่จะใช้ไฟอย่างอื่นแทน แต่ถ้าบางกรณีที่จะใช้กองไฟจากฟืน ให้พิจารณาเศษไม้ที่ทิ้งไว้โดยไม่ใช้ประโยชน์ก็คงอนุโลมได้  ถ้าเป็นกองไฟจริงจะต้องมีเจ้าหน้าที่ประจำกองไฟและผู้ช่วย   มีหน้าที่ก่อไฟให้เรียบร้อยก่อนทำพิธีเปิด คือ จุดให้ไฟติดและจะต้องคอยดูแลกองไฟให้สว่างพอสมควรอยู่ตลอดเวลา  โดยเตรียมฟืนและน้ำสำรองเอาไว้ คือ ถ้าไฟชักมอดลงจะต้องเติมฟืนลงไป  และถ้าไฟลามมากหรือกระเด็นออก  ก็ต้องพรมน้ำลงไป  สำหรับในกรณีนี้เมื่อจบการชุมนุมรอบกองไฟผู้เข้าร่วมการชุมนุมรอบกองไฟ และเจ้าหน้าที่ประจำกองไฟจะต้องออกจากบริเวณไปอย่างเงียบๆ  ภายหลังอีกสักครู่เจ้าหน้าที่ประจำกองไฟและผู้ช่วยต้องหวนกลับมาที่บริเวณการชุมนุมรอบกองไฟอีกครั้งหนึ่ง  เพื่อจัดการกับกองไฟให้เรียบร้อย  ยิ่งกว่านั้นในตอนเช้ามืดวันรุ่งขึ้น เจ้าหน้าที่ประจำกองไฟต้องมาดูแลสถานที่อีกครั้งหนึ่งให้สะอาดเรียบร้อย   ไม่ให้มีเศษไม้หรือเถ้าถ่านเหลืออยู่
                เรื่องการทำความสะอาดบริเวณการชุมนุมรอบกงไฟนี้  ไม่ควรถือว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ควรถือว่าเป็นบทเรียนอันสำคัญในการฝึกอบรมลูกเสือส่วนหนึ่ง
                ในทางปฏิบัติเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ประจำกองไฟนี้ ควรมอบหมายลูกเสือหมู่หนึ่งหรือมากกว่าให้ทำหน้าที่หมู่ลูกเสือบริการ เพื่อดูแลกองไฟและปฏิบัติหน้าที่ต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น
                การจัดที่นั่งรอบกองไฟนั้น   ควรจัดให้เป็นรูปวงกลมหรือเกือกม้า ให้กองไฟอยู่ตรงกลาง มีที่นั่งพิเศษสำหรับประธาน  ผู้ติดตาม และผู้มาร่วมงานซึ่งต้องจัดไว้ทางด้านเหนือลม ที่นั่งของประธานเป็นที่นั่งเดี่ยว ตั้งอยู่ล้ำหน้าที่นั่งของผู้ติดตาม 2 คน ซึ่งนั่งอยู่ด้านขวาและด้านซ้ายใกล้กับประธาน  สำหรับที่นั่งของผู้มาร่วมงาน ให้จัดอยู่ด้านหลังของประธานและผู้ติดตาม ส่วนผู้ร่วมการแสดง โดยปกติให้นั่งเรียงตามลำดับหมู่เหมือนการประชุมรอบเสาธงตอนเช้า  การแต่งกายให้แต่งตามเนื้อเรื่องที่จะแสดงไม่ต้องมีผ้าผูกคอ    ป้ายชื่อ  เพื่อเป็นที่สังเกตให้นายหมู่ นำธงหมู่ไปด้วย





4.การเตรียมการก่อนเริ่มการชุมนุมรอบกองไฟ
                (1) คณะผู้ให้การฝึกอบรมจะต้องปรึกษาหารือกันเพื่อกำหนดว่า ในการชุมนุมรอบกองไฟนั้นจะมีกิจกรรมอะไรบ้าง  จะให้ผู้ใดเป็นเจ้าหน้าที่ประจำกองไฟ   ผู้ใดเป็นพิธีกรและจะเชิญผู้ใดเป็นประธาน             ถ้าเป็นการอยู่ค่ายพักแรมของลูกเสือตามธรรมดา    โดยปกติผู้กำกับลูกเสือที่พาลูกเสือไปอยู่ค่ายพักแรมนั่นเองจะทำหน้าที่ประธาน  และให้รองผู้กำกับลูกเสือหรือลูกเสือคนใดคนหนึ่งที่มีความรู้ความสามารถทำหน้าที่พิธีกร
                (2) พิธีกร  คือ ผู้นำในการชุมนุมรอบกองไฟ  มีหน้าที่ในการนำประธานมาสู่ที่ชุมนุม  ประกาศลำดับกำหนดการต่างๆ  เป็นผู้นำหรือมอบหมายให้ผู้อื่นเป็นผู้นำในการร้องเพลง  และในการให้ลูกเสือแสดงกิริยาอาการต่างๆ   เพื่อเป็นการเปลี่ยนอารมณ์ให้เกิดความสนุกสนานเบิกบานใจ  ในการนี้พิธีกรควรทำรายละเอียดสำหรับตนเองไว้ว่า  จะให้ผู้ใดทำอะไร  เช่น จะให้ร้องเพลงอะไร  หรือจะรำวงโดยร้องเพลงอะไร ดังนี้เป็นต้น
ในการเลือกเพลงที่จะนำมาใช้นั้น  ควรเลือกเพลงที่ทุกคนร้องได้  เมื่อเริ่มเปิดการชุมนุมใช้เพลงปลุกใจหรือเพลงที่มีจังหวะหรือเนื้อเพลงยั่วยุให้ดี  เช่น เพลงสยามมนุสติ  เพลงไทยรวมกำลังตั้งมั่น              เพลงแหลมทอง  เพลงรักเมืองไทย
                ตอนท้ายของการชุมนุม  หลังจากจบทุกรายการแล้ว  ก่อนที่จะเชิญประธานในพิธีกล่าวปิด ให้เป็นเพลงจังหวะช้า เป็นคติ  เพลงลา  ซึ่งผู้ร่วมชุมนุมส่วนใหญ่ร้องได้  เช่น สร้อยเพลง   ลาวดวงเดือน  ฯลฯ   โดยไม่ใช้เครื่องขยายเสียงและเครื่องดนตรีใดๆ  เป็นการสร้างบรรยากาศให้ซาบซึ้งตรึงใจ  โน้มน้าวให้มีอารมณ์ที่จะได้ฟังการกล่าวปิดของประธานในพิธี
                (3) เมื่อได้กำหนดให้มีการชุมนุมรอบกองไฟ  เวลาใด    ต้องนัดหมายให้ทุกคนไปถึงที่ชุมนุมและนั่งตามที่ให้เรีบบร้อยก่อนเวลาประมาณ 10 นาที      หมู่บริการจุดไฟก่อนที่จะเชิญประธานเข้ามาในพิธี  พิธีกรแจ้งให้ที่ประชุมทราบว่าประธานและผู้ติดตามเป็นใคร     แล้วออกไปเชิญประธานเข้ามายังบริเวณการชุมนุมรอบกองไฟ
                พิธีกร ต้องนัดหมายเวลาที่ประธานจะเดินทางไปถึงบริเวณรอบนอกสถานที่ชุมนุมเวลาใด  ทบทวนซักซ้อมการปฏิบัติมีขั้นตอนอย่างใด  ผู้ติดตามประธานจะปฏิบัติอย่างไร  ยืนอยู่ตรงไหน  เมื่อประธานกล่าวเปิดแล้วจะร้องเพลงกี่เพลง      เพลงอะไรบ้าง
                (4) ในการชุมนุมรอบกองไฟ ถือว่าเป็นบทเรียนบทหนึ่ง  ฉะนั้น ในขณะมีการชุมนุมรอบกองไฟจึงมีข้อกำหนดว่าทุกคนที่ร่วมอยู๋ในการชุมนุมรอบกองไฟ “ห้ามสูบบุหรี่”   หากงดไม่ได้จริงๆ ให้หลบออกไปสูบนอกที่ชุมชนได้ชั่วคราว




                พิธีกรหรือผู้บรรยาย จะต้องชี้แจงนัดหมายการปฏิบัติขั้นตอนมอบงานให้รับผิดชอบว่า
                - การแสดงให้แสดงเป็นหมู่  ให้ทุกคนในหมู่มีโอกาสแสดงโดยทั่วกัน  ใช้เวลาหมู่ละประมาณ 8 -10 นาที โดยปกติ ให้ส่งเรื่องต่อพิธีกรก่อนเวลานัดหมายแสดงไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมง  เพื่อพิธีกรจะได้มีเวลาจัดกำหนดการให้เหมาะสม
                - เรื่องที่ควรแสดงคือเรื่องสนุกขบขัน ขนบธรรมเนียมประเพณี ประวัติศาสตร์ และเรื่องที่เป็นคติเตือนใจต่างๆ ส่วนเรื่องที่ไม่ควรแสดงคือ  เรื่องไร้สาระ  เช่น ผีสาง เรื่องลามก อนาจาร เรื่องเสียดสีสังคมหรือบุคคล  เรื่องเกี่ยวกับการเมืองหรือเรื่องล้อเลียนศาสนา  เป็นต้น
                - เพลงประจำหมู่ ให้แต่ละหมู่แต่งเพลงประจำหมู่ให้มีชื่อหมู่เนื้อร้องเป็นการสร้างสรรค์ เช่น เป็นคติปลุกใจ ความรัก  ความสามัคคี  ระเบียบ วินัย  เพื่อที่จะร้องก่อนการแสดงของหมู่
                - การจัดสถานที่ชุมนุม  การทำสลาก  ทำพวงมาลัย ก่อกองไฟ และดูแลตามปกติเป็นหน้าที่ของหมู่บริการประจำวัน และหมู่บริการที่พ้นหน้าที่ในวันนั้นแบ่งหน้าที่กันทำ

5.   การจัดกองไฟ 
                การก่อกองไฟมี  3  แบบ  คือ 
1. แบบเชิงตะกอนหรือแบบคอกหมู  การก่อแบบนี้ให้ไปแรงแต่มอดช้า
2. แบบกระโจมหรือแบบปิรามิด การก่อแบบนี้จะให้แสงสว่างมากแต่มอดเร็ว  
3. แบบผสม  การก่อแบบนี้เป็นการก่อแบบเชิงตะกอนกับแบบปิรามิดรวมเข้าด้วยกัน การก่อกองไฟแบบนี้ให้แสงสว่างมากแต่มอดช้า เป็นที่นิยมใช้กันมากในการเข้าค่าย ฉะนั้น  ในที่นี้ใคร่ขอเสนอการก่อกองไฟแบบผสม (คอกหมูและปิรามิด)
         โดยกองไฟจะเป็นกองไฟที่ก่อด้วยไม้จริง  หรือจะใช้ไฟให้แสงสว่างอย่างอื่น ๆ แทนก็ได้     ถ้าเป็นกองไฟจริงจะต้องมีผู้รับผิดชอบ ซึ่งโดยปกติจะมอบให้หมู่/กลุ่ม บริวารในวันนั้นทำหน้าที่นี้ มีหน้าที่ก่อไฟให้เรียบร้อยก่อนทำพิธีเปิด  คือ    จุดแล้วให้ไฟติดและจะต้องคอยดูแลกองไฟให้ติดตลอดเวลา ในการนี้จะต้องเตรียมฟืน และน้ำสำรองไว้ คือถ้าไฟชักมอดลงจะต้องเติมฟืนลงไป และถ้าไฟลุกลามมาก หรือกระเด็นออกจากกองไฟ ก็ต้องพรมน้ำลงไป
 


 








ในปัจจุบัน นโยบายของรัฐบาลให้อนุรักษ์ป่าไม้และสิ่งแวดล้อม จึงควรละเว้นการก่อไฟด้วยไม้จริง เมื่อเลิกการชุมนุมรอบกองไฟ ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบจะต้องออกจากบริเวณไปอย่าง   เงียบ ๆ พร้อมกับลูกเสืออื่น ภายหลังอีกสักครู่จะต้องหวนกลับมาที่บริเวณการชุมนุมรอบกองไฟอีกครั้งหนึ่งไม่ให้มีเศษไม้หรือเถ้าถ่านเหลืออยู่เลย
                เรื่องการทำความสะอาดบริเวณการชุมนุมรอบกองไฟนี้ อย่าถือว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยต้องถือว่าเป็นบทเรียนอันสำคัญในการฝึกอบรมลูกเสือด้วย

8.  ลำดับการชุมนุมรอบกองไฟ
                - พิธีกรเป็นผู้ประกาศกำหนดการชุมนุมรอบกองไฟตามลำดับ 
-ลูกเสือพร้อมกันที่บริเวณพิธีจัดชุมนุมรอบกองไฟ  จัดนั่งเวียนตามเข็มนาฬิกา                         แต่งชุดพร้อมแสดง  บันเทิง-ซักซ้อมพิธีการ –หมู่บริการ
- นัดหมายแจ้งให้ลูกเสือทราบว่าใครเป็นประธาน และผู้ติดตาม 2 คนชื่อ….ตำแหน่ง.….วุฒิทางลูกเสือ…
- เมื่อประธาน และผู้ติดตามมาถึง     “พิธีกรสั่งกองตรง”     ประธานกลับเข้าที่นั่ง
- จุดกองไฟหรือใช้ไฟเทียม
- ประธานเดินไปที่กองไฟ  แสดงรหัส   (มือขวา เฉียงไปข้างหน้า 45 องศา)  แล้วกล่าวเปิด  - จบ   ให้ทุกคนร้อง  “ฟู  ฟู  ฟู ”
- ร้องเพลงปลุกใจ  
- ประธานกลับเข้าที่นั่ง
- หมู่บริการนำแห่พวงมาลัย – พุ่มฉลาก (เวียนขวา เริ่มที่ด้านขวาของประธาน                           เวียนครบ 3 รอบ) ร้องเพลง
- เริ่มการแสดง  ประธานจับฉลาก
- หมู่ที่แสดง นายหมู่ทำความเคารพ (นายหมู่สั่งตรง แล้วทำวันทยาหัตถ์คนเดียว)                      
อาจมีเพลงประจำหมู่
- แสดงจบ กลับเข้าที่ ทำความเคารพเหมือนเดิม
- เชิญกล่าวชมเชย
- ตอบรับคำชมเชย  “ หมู่ที่แสดงจบ   เอาแขนขวาทับแขนซ้าย กล่าวด้วยคำสุภาพ......พร้อมโค้งคำนับ 1 ครั้ง ”
- อาจมีกิจกรรมอื่นๆสลับตามสมควร เกม ,รำวง, ปรบมือ
- แสดงครบทุกหมู่  พิธีกรนำร้องเพลงช้า  สร้อยเพลง หรือ  เพลงลาวดวงเดือน
- พิธีกรเชิญ  ประธานเล่าเรื่องสั้น และกล่าวปิด
- ผู้บังคับบัญชา-ลูกเสือจับมือเป็นวงกลมร่วมร้องเพลงสามัคคีชุมนุม
- หมู่บริการนำสวดมนต์แผ่เมตตา และร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี
- นัดหมาย  แยกย้ายกลับที่พัก หมู่บริการเก็บสิ่งของรอบงานชุมนุมรอบกองไฟ

9. พิธีเปิดการชุมนุมรอบกองไฟ
                เมื่อประธานเข้ามาในบริเวณการชุมนุมรอบกองไฟ  พิธีกรสั่งให้ทุกคนตรงด้วยคำว่า “ทั้งหมด-ตรง” หรือ  กอง-ตรง หรือ แพค-ตรง  แล้ว ประธานจะหยุดรับการเคารพแล้วเดินไปยืนหน้ากองไฟ  ยกมือขวาแสดงรหัสของลูกเสือชูขึ้นไปข้างหน้าประมาณ 45 องศา  กล่าวข้อความที่เป็นมงคลและกล่าวในตอนสุดท้ายว่า “ข้าพเจ้าขอเปิดการชุมนุมรอบกองไฟ ณ บัดนี้”  และคงยืนอยู่ ณ ที่เดิมจนจบเพลงที่ได้รับทราบจากการนัดหมายของพิธีกรแล้วจึงกลับไปยังที่นั่ง
                ในตอนนี้ผู้ติดตามประธานและผู้ร่วมงาน  ตลอดจนเจ้าหน้าที่บางคนอาจเดินตามประธานเข้ามา  ทุกคนเข้าไปยืนยังที่ของตนขณะที่ประธานหยุดรับการเคารพ มีประธานแต่ผู้เดียวเท่านั้นที่เดินตรงเข้าไปใกล้กองไฟ เมื่อประธานกลับมานั่งยังที่นั่งซึ่งจัดไว้ ทุกคนนั่งลง
                เมื่อประธานกล่าวในตอนสุดท้ายว่า “ข้าพเจ้าขอเปิดการชุมนุมรอบกองไฟ ณ บัดนี้” พิธีกรให้สัญญาณให้ทุกคนร้องเป็นเสียงไฟลุกว่า  “ฟู่ๆ” 3 ครั้ง
                พิธีกรนำร้องเพลง 1 หรือ 2 เพลง เช่นเพลงสยามมานุสติ  เพลงสดุดีมหาราชา  เป็นต้น
                เมื่อเพลงจบประธานกลับไปนั่งแล้ว  ให้ทุกคนนั่งลง
                หมู่บริการจะนำพวงมาลัยและพุ่มสลากชื่อของหมู่สำหรับประธานจับลำดับการแสดงไปให้ประธาน โดยให้มีขบวนแห่ นำโดยหมู่บริการที่จัดทำพวงมาลัยและพุ่มสลาก  ทั้งหมู่เป็นต้นขบวน ถ้าจำนวนผู้เข้าร่วมมีจำนวนน้อยให้หมู่อื่นๆเข้าร่วมด้วย  แต่ถ้ามีจำนวนมากก็ไม่จำเป็น              จะทำให้เกิดการสับสน ต้นขบวนให้ยืนอยู่ด้านหน้าข้างขวาของผู้เป็นประธาน  คนที่ถือพวงมาลัยยืนทางขวา  คนถือพุ่มสลากยืนทางซ้าย ขบวนเริ่มออกเดินเมื่อพิธีกรเริ่มร้องเพลง การเดินให้เวียนขวาครบ 3 รอบ  ผู้ถือพวงมาลัยและพุ่มสลากยืนตรงหน้าประธาน ทุกคนในขบวนกลับเข้านั่งที่เรียบร้อย ผู้ถือพวงมาลัยมอบให้ประธานเป็นคนแรก  คนถือพุ่มสลากมอบทีหลัง  เสร็จแล้วกลับ            ที่นั่ง








ตัวอย่างคำกล่าวเปิดการชุมนุมรอบกองไฟ
                จากทิศเหนือ   สู่ทิศใต้    จากทิศตะวันออก   สู่ทิศตะวันตก    ข้าพเจ้าขอเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย  จงมาเป็นสักขีพยานในการชุมนุมรอบกองไฟนี้     จงนำความโชคดีมาสู่พีน้องลูกเสือ   และขอให้กิจการลูกเสือจงเจริญรุ่งโรจน์เหมือนแสงไฟอันรุ่งโรจน์       สิ่งไม่ดีไม่งามทั้งหลายขอจงมอดไหม้เป็นเถ้าถ่านในกองไฟนี้     พี่น้องลูกเสือทั้งหลาย       บัดนี้ถึงเวลาแล้ว ข้าพเจ้าขอเปิดชุมนุมรอบกองไฟ     ณ บัดนี้

ขอเดชะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในสากลโลก  จงดลบันดาลให้กิจการลูกเสือเจริญรุ่งเรืองยิ่งๆขึ้นไปทั้ง 4 ทิศ  ดุจเปลวเพลิง ที่ส่องแสงสว่างรุ่งโรจน์อยู่นี้     บัดนี้เป็นเวลาอันสมควรแล้ว ข้าพเจ้าขอเปิดการชุมนุมรอบกองไฟ 

ขออันเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายที่มีอยู่ในโลกนี้        จงมาเป็นสักขีพยานการแสดง
รอบกองไฟของลูกเสือ-เนตรนารี       ในค่ำคืนวันนี้    หากมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เป็นอุปสรรคต่อกิจกรรมลูกเสือ-เนตรนารีแล้วขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายที่ได้อันเชิญมาเป็นสักขีพยานค่ำคืนนี้  จงขับไล่อุปสรรคต่าง ๆ       อันจะเกิดขึ้นกับกิจกรรมลูกเสือให้สลายไป

เพลงสยามานุสติ
หากสยามยั่งอยู่ยั่ง                               ยืนยง
เราก็เหมือนอยู่คง                                                ชีพด้วย
หากสยามพินาศลง                                             ไทยอยู่  ได้ฤา
เราก็เหมือนมอดม้วย                                          หมดสิ้นสกุลไทย
                ใครรานใครรุกร้าว                              แดนไทย
ไทยรบจนสุดใจ                                                   ขาดดิ้น
เสียเนื้อเลือดหลั่งไหล                                        ยอมสละ   สิ้นแล
เสียชีพไปเสียสิ้น                                                 ชื่อก้องเกียรติงาม






10. การแสดงของหมู่ลูกเสือ
ก่อนมีการแสดงของหมู่   พิธีกรอาจนำหรือให้ผู้อื่นนำร้องเพลง แล้วจึงไปขอให้ประธานจับสลากว่าจะให้หมู่ใดแสดงก่อน หมู่ใดจะแสดงให้นายหมู่ยืนขึ้น (อยู่กับที่ไม่ต้องออกมายืนตรงหน้าประธาน) โดยสั่งว่า “หมู่..(กลุ่ม)..ตรง” นายหมู่ทำวันทยหัตถ์ (ถ้ามีไม้พลองหรือไม้ง่ามทำวันทยาวุธ) แต่เพียงผู้เดียว จากนั้นร้องเพลงประจำหมู่ เมื่อร้องเพลงประจำหมู่จบจึงเริ่มแสดง  เมื่อแสดงจบให้กลับไปยืนที่เดิมและสั่งอีกว่า “หมู่…(กลุ่ม)..ตรง” นายหมู่ทำความเคารพเช่นเดิม
                เมื่อการแสดงของหมู่จบลง พิธีกรจะขอให้ใครคนหนึ่งกล่าวนำชมเชยแบบลูกเสือ (YELL) ประกอบท่าทางให้แก่หมู่ที่แสดง  เพื่อเป็นการแสดงความพอใจและขอบคุณผู้แสดง  ด้วยถ้อยคำหรือท่าทางที่สร้างสรรค์  3 ครั้ง หลังจากนั้นหมู่แสดงต้องกล่าวตอบสั้นๆ 1 ครั้ง  ครั้นแล้วพิธีกรก็ดำเนินการต่อไปตามกำหนดการและจัดให้มีการแสดงของหมู่ต่างๆ ตามลำดับ
                เมื่อการแสดงของหมู่หนึ่งจบแล้ว ก่อนจะให้เริ่มการแสดงของหมู่ต่อไป  พิธีกรอาจนำร้องเพลง หรือการเปลี่ยนอิริยาบถมาสลับเป็นตอนๆ ตามที่เห็นสมควร หรือจะให้ผู้ใดนำแทนก็ได้โดยตกลงกันไว้ก่อน

การเยลล์  (กล่าวคำชมเชย)
การเยลล์  หมายถึง  การแสดงออกด้วยท่าทางหรือออกเสียงเพื่อแสดงความพอใจ
แสดงความยินดี  ชมเชย  ให้แก่ลูกเสือหรือกลุ่มลูกเสือ หรือบุคคลอื่นที่กองลูกเสือเชิญมาหรือเป็นการแสดงการต้อนรับผู้มาเยี่ยมกองลูกเสือ          เป็นการแสดงออกด้วยความดีใจ  ซาบซึ้ง  พอใจ  การกล่าวต้องเป็นข้อความที่มีความหมาย  หรืออาจไม่มีความหมายแต่มีความครึกครื้น  สนุกสนาน  กระฉับกระเฉง  ร่าเริงและจริงใจ

                ตัวอย่าง  คำกล่าวชมเชย  (กล่าวพร้อมกัน  3  ครั้ง)
                                แสดงได้ดีจริง ๆ                  ตั้งในแสดงจริง                    แสดงได้ยอดเยี่ยม
                                มีความคิดดี                           พร้อมเพรียงกันมาก           มีความสามัคคี
                                แสดงได้เก่งมาก                  ซึ้งที่สุด                                  แสดงได้สมบทบาท ฯลฯ

                ตัวอย่าง  การกล่าวตอบรับคำชมเชย  (กล่าวพร้อมกัน  1  ครั้ง)
ขอบคุณครับ                         เก่งมานานแล้ว                    เจ๋งอยู่แล้ว
                                รุ่นเก๋ากึก                               ยอดเยี่ยม อยู่แล้ว                 เราพร้อมใจกัน ฯลฯ



                ผู้นำกล่าวชมเชย  ให้ก้าวออกมาข้างหน้า  1  ก้าว  พร้อมพูดว่า    “ขอเชิญชวนพี่น้องลูกเสือทั้งหมดโปรดยืนขึ้น  พร้อมกำมือไว้ตรงกลางหัวใจ  แล้วฝายมือที่กำไปยังหมู่ที่แสดง              และกล่าวว่า   ................ ”     พร้อมกัน  3  ครั้ง     ให้ผู้นำกล่าวชมเชย   นับ 1-2-3  เพื่อความพร้อมในการกล่าวคำชมเชย
                หมู่ที่รับคำชมเชย  นายหมู่จะเป็นผู้นัดหมายให้ลูกหมู่ของตนเองกล่าวตอบ    เช่น เก่งมานานแล้ว     โดยให้หมู่ที่แสดงเสร็จยืนขึ้น   เอามือขวาทับมือซ้าย กล่าวตอบพร้อมกัน  1 ครั้ง         พร้อโค้งศรีษะ 1 ครั้ง

11. การเปลี่ยนอิริยาบถของผู้เข้าชุมนุม
                ในการชุมนุมรอบกองไฟ การเปลี่ยนอิริยาบถของผู้เข้าชุมนุมให้สนุกสนานร่าเริงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะมิฉะนั้นผู้เข้าชุมนุมอาจจะรู้สึกเบื่อและง่วงเหงาหาวนอน  การเปลี่ยนอิริยาบถของผู้เข้าชุมนุมนี้อาจทำได้หลายวิธี ตามแต่โอกาสอันเหมาะสม  และเป็นหน้าที่ของพิธีกรที่จะต้องเป็นผู้นำหรือมอบหมายให้ผู้รู้คนใดคนหนึ่งเป็นผู้นำ เช่น นำให้ร้องเพลง  นำให้แสดงกิริยาอาการต่างๆ  ที่ขบขันหรือปลุกให้ตื่น เช่น ให้ร้องเพลง “หากว่าเรากำลังสบาย จงตบมือพลัน”    หรือจัดให้มีการรำวงหรือนำตบมือเป็นจังหวะ  แล้วให้ผู้อื่นตบตาม ฯลฯ
เกม




12.  เมื่อมีผู้มาเยี่ยมเยียน
                ในกรณีที่จะมีบุคคลมาเยี่ยมเป็นหน้าที่พิธีกรจะจัดที่นั่งอันเหมาะสมให้  และขอทราบความประสงค์ แล้วจัดให้นำสิ่งของมอบให้ในระหว่างจบการแสดงของหมู่ใด  หมู่หนึ่ง   โดยมอบให้กับประธานในพิธี             ซึ่งประธานในพิธีอาจรับไว้ แล้วให้ผู้แทนของหมู่รับต่อไป        พิธีกรจัดให้มีผู้แทนกล่าวชมเชยตามแบบลูกเสือ    หรืออาจร้องเพลงกล่าวขอบคุณ     ประกอบ 3 รอบ                แล้วให้ลูกเสือช่วยกันปรบมือ
เพลงขอบคุณ
ขอบคุณ ๆ ๆ          ขอบคุณ ที่ท่านกรุณา    
ลูกเสือเราไม่มีอะไร  ๆ        มีแต่น้ำใจ ขอบคุณ ๆ



13. พิธีปิด
- เมื่อจบการแสดงของทุกหมู่แล้ว พิธีกรจะให้มีการร้องเพลง  ทำนองช้าโดยไม่ใช้เครื่องดนตรีใด ๆ ประกอบ อาจเป็นเพลงที่เป็นคติ หรือสร้างสรรค์ เหมาะสมกับผู้ร่วมชุมนุมทั้งนี้ควรเป็นเพลงที่ส่วนใหญ่หรือทั้งหมดได้ร่วมร้องด้วย ตัวอย่างเช่น ร้องเพลงสร้อยเพลงหรือเพลงลาวดวงเดือน
- พิธีกรจะเชิญประธานกล่าวปิด     ประธานไปยืนในที่เหมาะสม กล่าวเรื่องสั้นอันเป็นประโยชน์ในเรื่องใด ๆ ที่เห็นว่าเหมาะสมและจบลงด้วยถ้อยคำว่า   “ข้าพเจ้าขอปิดการชุมนุมรอบกองไฟ ณ บัดนี้ ”    ใช้เวลาประมาณ  10  นาที
- พิธีกรให้ทุกคนล้อมวง โดยให้แขนขวาซ้อนบนแขนซ้ายของตนเอง ร้องเพลงสามัคคีชุมนุม    แล้วโยกไปทางซ้าย  ขวา  พร้อมกันช้า ๆ    จนจบเพลงแล้วปล่อยมือลง
- ผู้แทนหมู่บริการนำสวดมนต์อย่างยาว  จบแล้วให้สั่งให้ทุกคนหันหน้าไปยังทิศที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับอยู่ในขณะนั้น ถ้าหากพระองค์มิได้ประทับอยู่ในประเทศไทย ให้หันหน้าไปยังพระบรมมหาราชวัง กรุงเทพฯ สั่งทำความเคารพ แล้วนำร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี จนจบ
- พิธีกร นัดหมาย
- ทุกคนแยกย้ายกันกลับที่พักอย่างสงบ ส่วนหมู่ที่ทำหน้าที่เป็นหมู่บริการกลับมาทำความสะอาดให้เรียบร้อย
เพลงลาวดวงเดือน
โอ้ละหนอ  ดวงเดือนเอย                พี่มาเว้า  รักเจ้าสาวคำดวง                
โอ้ดึกแล้วหนา   พี่ขอลาล่วง                            อกพี่เป็นห่วง      รักเจ้าดวงเดือนเอย
                                ขอลาแล้ว  เจ้าแก้วโกสุมภ์               พี่นี้รัก เจ้าหนอ  ขวัญตาเรียม 
จะหาไหน  มาเทียม  รักเจ้าดวงเดือนเอย      (ซ้ำ) 
หอมกลิ่นเกสร  เกสรดอกไม้ หอมกลิ่นคล้าย   คล้าย เจ้าสูเรียมเอย   ( ซ้ำ)   
ถึงจะหอมครุ่นครัน  หอมนั้นยังบ่เลย       เนื้อหอมทรามเชย    เอยเราละเน้อ (ซ้ำ)
เพลงสร้อยเพลง
ใครมาเป็นเจ้าเข้าครอง                      คงจะต้องบังคับขับไส
เคี่ยวเข็ญเย็นค่ำกรำไป                                       ตามวิสัยเชิงเช่นผู้เป็นนาย
เขาจะเห็นแก่หน้าค่าชื่อ                                    จะนับถือพงษ์พันธุ์  นั้นอย่าหมาย
ไหนจะต้องเหนื่อยยากลำบากกาย                  ไหนจะอายทั่วทั้งโลกา

หมายเหตุ
1. เพลงประจำหมู่ที่ใช้ร้องให้มีเนื้อร้องระบุชื่อหมู่  มีสาระ,  ปลุกใจ,  เป็นคติ
2.เรื่องที่จะแสดง  ควรเป็นเรื่องเป็นคติเตือนใจ,  ประวัติศาสตร์  ปลุกใจให้รักชาติ  ส่งเสริม
ขนบธรรมเนียมประเพณี,  สนุกสนาน
3.ไม่ควรแสดงเรื่องไร้สาระ,  เสียดสีบุคคล,  เรื่องการเมือง,  ผีสาง  ลามก  อนาจาร  ล้อเลียนศาสนา
4.ห้ามใช้อาวุธจริงหรือของมีคมมาประกอบการแสดง
5.ห้ามสูบบุหรี่ในขณะนั่งอยู่ในบริเวณชุมนุม
6.ห้ามดื่มของเมา  รวมทั้งนำมาใช้ประกอบการแสดง
7.ไม่ควรแตะต้องหรือนำสิ่งของข้ามกองไฟหรือใช้กองไฟประกอบการแสดงในทางไม่เหมาะสม
8.ให้นายหมู่นำธงหมู่มาด้วย  เมื่อสั่งให้ทุกคน  “ตรง”  นายหมู่ทำวันทยา-วุธ  และเรียบ-อาวุธ  เมื่อสั่งพัก











หนังสืออ้างอิง
-  คณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ , สำนักงาน , คู่มือการฝึกอบรมวิชาผู้กำกับลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ขั้น   ความรู้เบื้องต้น.กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว .  พ.ศ. 2539
- เอกสารประกอบการฝึกอบรมวิชาผู้กำกับลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ขั้นความรู้ชั้นสูง  , น่าน. พ.ศ. 2544

ไม่มีความคิดเห็น:

เครื่องแบบลูกเสือ การแต่งเครื่องแบบลูกเสือ กางเกง  ชายกางเกงขาสั้น ผ้าผูกคอ     ใช้ผ้าผูกคอตามสังกัด   (เช่น ลูกเสือเขตการศึกษา 8  เช...

ค้นหาบล็อกนี้