Translate

หน้าเว็บ

17 สิงหาคม 2563

การฝึกอบรมผู้บังคับบัญชาลูกเสือในอดีต

การฝึกอบรมผู้บังคับบัญชาลูกเสือในอดีต
กิจการลูกเสือได้เริ่มขึ้นใน ค.ศ. 1907 ส่วนการฝึกอบรมผู้บังคับบัญชาลูกเสือก็มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกันกับขบวนการลูกเสือ แม้ว่าเวลาส่วนใหญ่ในตอนต้นได้ใช้ไปในการเผยแพร่แนวความคิดใหม่ เพื่อสนับสนุนการเติบโตตามธรรมชาติของกิจการลูกเสือก็ตามที บี.-พี. ในระยะเวลาเริ่มแรก บี.-พี. (ลอร์ด เบเดน- โพเอลล์) ได้สนใจในเรื่องการฝึกอบรมผู้กำกับลูกเสือด้วยตัวท่านเอง ได้ทำการอำนวยการฝึกอบรมวิชาผู้กำกับลูกเสือ 2 รุ่น ในปี 1911 และ 1912 การฝึกอบรมในสมัยนั้นประกอบด้วยการบรรยายในเวลากลางคืน
แนวความคิดหลัก และลักษณะต่าง ๆ ซึ่งจะกลายเป็น “การฝึกอบรมเพื่อรับเครื่องหมายวูดแบดจ์ (Wood Badge Training) นั้น ได้เริ่มมีขึ้นในปี ค.ศ. 1913 การฝึกอบรมได้จัดให้มีขึ้นโดยใช้ระบบหมู่เป็นสำคัญ ส่วนทฤษฎีและภาคปฏิบัตินั้นได้จัดผสมผสานกันอย่างได้สัดส่วนพอดีกัน แต่ระบบนี้ยังมิได้จัดให้เป็นรูปแบบการฝึกที่จริงจัง
ต่อมาเมื่อภายหลังการสงครามโลกครั้งที่หนึ่งได้สิ้นสุดลงแล้ว กิจการลูกเสือจึงได้เจริญ
ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วอย่างแทบไม่น่าเชื่อ บี.-พี. จึงได้หันมาสนใจกับการฝึกอบรมผู้กำกับลูกเสืออย่างจริงจัง เพื่อสนองความเจตนาดีและความกระตือรือร้นของผู้กำกับลูกเสือ บี.-พี. ได้กล่าวในตอนนั้นว่า “เพื่อทำให้เป็นที่แน่ใจว่า เมื่อข้าพเจ้าได้ตายไปแล้วผู้กำกับลูกเสือในอนาคตจะมีความเข้าใจอย่างแท้จริงว่า เรื่องทั้งหมดนี้คืออะไร และความตั้งใจจริงของข้าพเจ้าคืออะไร (“To make quite certain that when I am gone, the future leaders of Scouting will really understand what it is all about and what my intentions have been.”)
เพื่อให้บรรลุถึงจุดประสงค์นี้ จำต้องมีสถานที่ฝึกอบรมและกำหนดการ (Programme) สถานที่นั้นคือ Gilwell Park ซึ่ง บี.-พี. ได้ไปเห็นในปี ค.ศ. 1918 และด้วยความเอื้ออนุเคราะห์ของ Mr. de Bois Maclaren ผู้ซึ่งได้ซื้อที่ดินแปลงนี้มอบให้เป็นสมบัติของสมาคมลูกเสืออังกฤษ (The Scout Association) ในปี ค.ศ. 1919 สำหรับใช้เป็นที่อยู่ค่ายพักแรมของบรรดาลูกเสือ และเป็นศูนย์ฝึกผู้กำกับลูกเสือ
การฝึกอบรมผู้กำกับลูกเสือรุ่นแรกมีขึ้นเมื่อ 8 – 19 กันยายน ค.ศ. 1919 การฝึกอบรมดำเนินไปตามแนวที่ บี.-พี. ได้กำหนดไว้ในปี ค.ศ. 1913 มีผู้กำกับลูกเสือจากส่วนต่าง ๆ ของประเทศอังกฤษและเวลล์จำนวน 19 คน มีอายุ และอาชีพแตกต่างกันเข้ารับการฝึกอบรม มี Mr. Francis Gidneys เป็นผู้อำนวยการค่าย (Camp Chief) ในปีนี้ได้มีการจัดพิมพ์หนังสือ “คู่มือผู้กำกับลูกเสือ” (Aids to Scoutmastership) ขึ้น และได้ใช้เป็นแนวการฝึกอบรมต่อมาในหนังสือคู่มือเล่มนี้มีทฤษฎีวิชาการต่าง ๆ เช่น หลักการขั้นพื้นฐานของการลูกเสือ และภาคปฏิบัติซึ่งต้องใช้เวลาฝึกอบรมเป็นเวลา 7 วัน พร้อมด้วยการอยู่ค่ายพักแรมคืนไปด้วย ส่วนการบริหารการลูกเสือนั้นต้องทำด้วยการปฏิบัติจริงในกองลูกเสือของตนก่อนหน้านี้นั้น การฝึกอบรมได้จัดขึ้นโดยสมาคมลูกเสือ East London Association มีผู้กำกับจากสมาคมนี้เข้ารับการฝึกอบรมประมาณ 25 นาย
ในตอนแรก การฝึกอบรมจำกัดอยู่เฉพาะวิชาการและกิจกรรมเกี่ยวกับกองลูกเสือสามัญเท่านั้น บี.-พี. มิได้สนใจเรื่องประกาศนียบัตร หรือดีโปลมาที่จะมอบให้แก่ผู้สำเร็จการฝึกอบรมแล้ว แต่ได้มอบ “ลูกปัดทำด้วยไม้” (Wood badge) ให้แก่ผู้ได้รับการฝึกอบรมจนสำเร็จแล้ว
“ลูกปัดไม้” นี้เป็นไม้สองท่อน และสายหนังมีประวัติมาจากสร้อยคอของชาวแอฟริกันเผ่าดินิซูลู (Dini Zulu)
ในเดือนพฤษภาคม 1921 ได้มีการฝึกอบรมผู้กำกับลูกเสือสำรอง ในสองสามปีต่อมาหลักสูตรการฝึกอบรมผู้กำกับลูกเสือสำรองได้รับการพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ส่วนหลักสูตรของการฝึกอบรมผู้กำกับลูกเสือสามัญก็ได้เปลี่ยนแปลงปรับปรุงเนื้อหาวิชาไปอย่างมากด้วย
การฝึกอบรมลูกเสือวิสามัญได้เริ่มขึ้นในปี ค.ศ. 1927
ในปี 1921 ได้มีการพบปะกัน (Reunion) ครั้งแรกของบรรดาผู้บังคับบัญชาลูกเสือที่ได้ผ่านการฝึกอบรมจากกิลเวลล์ ปาร์คมาแล้ว ในปีนั้น บี.-พี. ได้รับการแต่งตั้งอุปโลกน์ให้ดำรงตำแหน่งผู้กำกับลูกเสือกิตติมศักดิ์ (Honorary Scoutmaster) ของเหล่าผู้บังคับบัญชาลูกเสือที่เข้ารับการฝึกอบรมที่กิลเวลล์ ปาร์คเรียกชื่อว่า The First Gilwell Park Group
และถือเป็นประเพณีสืบเนื่องกันต่อมาว่าผู้บังคับบัญชาลูกเสือคนที่ได้เข้ารับการฝึกและผ่านการฝึกอบรมระดับ Wood Badge มาแล้ว เป็นสมาชิกของผู้บังคับบัญชาลูกเสือกลุ่มนี้ทุกคน
การฝึกอบรมวูดแบดจ์ เป็นไปตามแนวทางที่ บี.-พี. ได้กำหนดขึ้นไว้ แบ่งเป็น 3 ตอน กล่าวคือ
ตอนที่ 1 ว่าด้วยทฤษฎี มีวิชาว่าด้วยหลักการขั้นพื้นฐานของกิจการลูกเสือ ดังได้อธิบายไว้ในหนังสือคู่มือผู้กำกับลูกเสือ Aids to Scout mastership ผู้เข้ารับการฝึกต้องตอบคำถามต่าง ๆ ที่กำหนดไว้
ตอนที่ 2 ว่าด้วยภาคปฏิบัติ อยู่ค่ายพักแรมคืนหนึ่ง สัปดาห์
ตอนที่ 3 ว่าด้วยการบริหารงาน คือ ผู้กำกับปฏิบัติหน้าที่ในกองลูกเสือของตนตามวิธีการและวิชาการที่ได้รับการฝึกอบรมมา สำหรับงานตอนที่ 2 นั้นมีขั้นตอนโดยสังเขป ดังต่อไปนี้
ผู้กำกับลูกเสือที่มาเข้ารับการฝึกอบรมต้องกินนอนอยู่ในค่าย ด้วยวิธีการช่วยเหลือตัวเองและเรียนรู้ด้วยการกระทำ ผู้กำกับบางคนมีโชคดีกว่าคนอื่นเพราะได้รับการแต่งตั้งเป็นนายหมู่ แต่บางคนโชคไม่ดีเพราะต้องรับหน้าที่เป็นพ่อครัว ทุกคนในหมู่จะได้รับมอบหมายหน้าที่โดยเฉพาะให้ทำเป็นการชั่วคราวเพราะวันรุ่งขึ้นหน้าที่ต่าง ๆ นั้นก็ต้องเปลี่ยนกันไป นายหมู่กลับมาทำหน้าที่เป็นคนรับใช้เบ็ดเตล็ด วันต่อมาก็ได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นคนหาฟืน หาน้ำ คนครัว และพลาธิการฉะนั้น เมื่อการฝึกอบรมได้ผ่านไปแต่ละวันสมาชิกในหมู่ทุกคนต่างได้มีประสบการณ์ในการปฏิบัติหน้าที่ของหมู่ทั่วกัน
เมื่อผู้เข้ารับการฝึกอบรมมาถึงค่ายกิลเวลล์ ปาร์ค ผู้อำนวยการค่าย (Camp Chief) จะเป็น ผู้กล่าวต้อนรับ ผู้ที่มาเข้ารับการฝึกอบรม และชี้แจงภารกิจประจำวันให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมทราบ ครั้นแล้วจะปล่อยให้ทุกคนไปเข้าค่ายเพื่อจัดที่พัก ทำความรู้จักซึ่งกันและกันและตระเตรียมจัดทำอาหาร เพื่อจะรับประทานเป็นมื้อแรก ถึงแม้ว่าผู้มาเข้ารับการฝึกอบรมจะมีตำแหน่งสูง มีอาชีพสำคัญ เช่น เป็นผู้ตรวจการลูกเสือประจำเขต ประจำจังหวัด เป็นผู้จัดการธนาคาร หรือเป็นผู้อำนวยการ ครูใหญ่ อาจารย์ใหญ่ก็ตามที เมื่อเข้ามาอยู่ในหมู่ผู้บังคับบัญชาลูกเสือเพื่อรับการฝึกอบรมแล้ว ตำแหน่งสำคัญต่าง ๆ เหล่านี้ต้องยุติลงทั้งสิ้น ต้องมาทำหน้าที่เป็นนายหมู่ รองนายหมู่ พลาธิการ และคนครัว เป็นต้น ไม่ว่าใครจะรู้สึกอกสั่นขวัญหายเพราะคำสั่งของท่านผู้อำนวยการค่ายเพียงไรก็ตามเช่นวันนี้ท่านเป็นคนครัวรู้สึกกังวลใจว่าจะหุงข้าวไหม้ หรือปรุงอาหารไม่ดี ท่านก็ต้องทำงานตามหน้าที่ของท่านให้ดีที่สุด ค่ำวันนั้นจะมีการชุมนุมรอบกองไฟ ผู้อำนวยการค่ายจะมาปราศรัยกับท่านถึงเรื่องกิจการลูกเสือโดยทั่วๆ ไป เช่น จะกล่าวถึงประวัติการลูกเสือ จุดมุ่งประสงค์และภารกิจของผู้เข้ารับการฝึกอบรม และกล่าวเตือนว่าทุกคนที่มาเข้ารับการฝึกอบรมครั้งนี้ เพื่อจะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของตนในฐานะที่เป็นผู้ชาย ผู้หญิง และเป็นผู้บังคับบัญชาลูกเสือกับสมาชิกบุคคลอื่น และเวลาเดียวกันจะมาเป็นผู้รับประสบการณ์ต่าง ๆ ไปจากกิลเวลล์ ปาร์ค ด้วย ครั้นแล้วจะมีการสวดมนต์ (Camp prayers) การฝึกอบรมในคืนแรกก็จบลง การหลับนอนในคืนแรกรู้สึกว่าจะหลับยากสักหน่อย ผู้รับหน้าที่เป็นคนครัวจะนอนละเมอฝันไปว่าพรุ่งนี้จะปรุงอาหารที่ไหม้ อบเนื้อที่ไม่สุกให้เพื่อนรับประทานหรืออย่างไรหนอ ?
เวลา 07.00 น. วันรุ่งขึ้นเสียงดังจากการเป่าเขา Kudu Horn จะปลุกให้ทุกคนตื่นขึ้น
เวลา 09.30 น. ทุกสิ่งทุกอย่างภายในที่พักต้องจัดเก็บให้เรียบร้อย เพราะผู้อำนวยการค่ายและคณะจะมาตรวจ การตรวจจะทำอย่างละเอียดลออมาก แม้แต่ก้านไม้ขีดไฟเพียงก้านเดียวก็ทิ้งไว้ไม่ได้ ผู้ตรวจซึ่งมีสายตาแหลมคมจะมองเห็นทั้งสิ้น
ครั้นแล้วทุกคนไปพร้อมกันที่เสาธง ทำพิธีเชิญธง สวดมนต์ (Camp prayers) และเล่นเกมส์ ก่อนที่จะทำการฝึกอบรม หลังจากอาหารกลางวัน มีระยะเวลาอยู่ช่วงหนึ่งให้ชื่อว่า ชั่วโมงพักผ่อน (Rest Hour) ผู้ที่ได้ไปเข้ารับการฝึกที่กิลเวลล์ ปาร์คมาแล้วเท่านั้น จึงจะเข้าใจความหมายของเวลาชั่วโมงนี้ได้ดี กิลเวลล์เชื่อว่าการพักผ่อนที่ดีที่สุดนั้นคือการทำงาน และปฏิบัติสิ่งที่กิลเวลล์เชื่อ
Mr. Rex Hazlewood ได้อธิบายคำว่า Rest Hour ไว้ในหนังสือ The Scout Master’s Guide from A to Z
“การอยู่ค่ายพักแรมครั้งแรกที่สุดที่จัดขึ้นโดย บี.-พี. ที่เกาะบราวน์ซีนั้นมีชั่วโมงพักผ่อน (Rest Hour) ด้วยหลังจากอาหารกลางวัน เป็นส่วนหนึ่งของตารางฝึกประจำวัน เป็นส่วนจำเป็นส่วนหนึ่งของการอยู่ค่ายพักแรมแบบลูกเสือตั้งแต่นั้นมา” เป็นโอกาสดีสำหรับลูกเสือทั้งหลายไม่เฉพาะแต่ในเรื่องการย่อยอาหารกลางวันเท่านั้น แต่เพื่อการพักผ่อนการเขียนจดหมายถึงกัน หรือเขียนบันทึกประจำวันหรือเพื่ออ่านหนังสือ หรือเพื่อพักผ่อนตามลำพัง ชั่วเวลา 60 นาที นับว่าเป็นประโยชน์ดีมาก และควรถือเป็นข้อปฏิบัติสำหรับผู้อยู่ค่ายพักแรมที่ดี เรื่องนี้เกิดมากจากความคิดของ บี.-พี. เอง
ข้อความตอนนี้ได้มาจากหนังสือ The Scout Master’s Guide from A to Z Mr. Rex Hazlewood.
เวลา 18.00 น. การฝึกอบรมประจำวันก็สิ้นสุดลง แต่เรื่องการจัดหาอาหารเย็นการหาฝืนและสิ่งอื่นอีกมากมาย ซึ่งจะต้องจัดทำกัน เพื่อทำให้การอยู่ค่ายได้เป็นไปโดยเรียบร้อย
เวลา 20.30 น. เป็นเวลาการชุมนุมรอบกองไฟ สมาชิกผู้เข้ารับการฝึกอบรมต้องเป็นผู้แสดงเอง ถ้าเป็นการฝึกอบรมวิชาผู้กำกับลูกเสือสามัญ ในคืนวันเสาร์หมู่บริการเป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องการชุมนุมรอบกองไฟ จะนำผู้เข้ารับการฝึกอบรมไปยังสถานที่ชุมนุมรอบกองไฟของลูกเสือที่มาพักแรม (Boy’s Camp Fire) ที่นี่ทุกหมู่จะต้องออกมาแสดงการเล่นอะไรอย่างหนึ่ง
วันต่าง ๆ ของการฝึกอบรมได้ผ่านไปทำนองนี้ ด้วยวิธีการที่คล้ายคลึงกันแตกต่างกันโดยกิจกรรมที่ต้องทำเท่านั้น ทุกคนมองความยากลำบากต่าง ๆ ของการฝึกตามสภาพที่เป็นจริงทุกสิ่งทุกอย่างที่เราคิดว่าจะทำไม่ได้นั้นก็ได้ทำสำเร็จไปโดยมิได้รู้สึกประหวั่นพรั่นพรึงหรือท้อถอยแต่ประการใด แต่ละหมู่ต่างมีความตั้งอกตั้งใจจะทำให้หมู่ของตนมีผลงานออกมาดีเด่นกว่าหมู่อื่นทุกคนมีความประสงค์อันเกิดขึ้น โดยมิรู้สึกตัวเองในอันที่จะทำงานเพื่อแบ่งเบาภาระของเพื่อนในหมู่ตนให้เพื่อนทำงานน้อยลง
ในการฝึกอบรมมีมาตรฐานการอยู่ค่ายกำหนดไว้ ซึ่งทุกหมู่ต้องพยายามปฏิบัติให้ได้ตามมาตรฐานนั้น และต้องให้ดีกว่าหมู่อื่นด้วย นอกจากนั้นต้องพยายามทำความรู้จักกับสมาชิกผู้อื่นทุกคนด้วย ในการฝึกอบรมแต่ละรุ่นผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีตำแหน่งแตกต่างกัน อาชีพต่างกัน อายุแตกต่างกัน เชื้อชาติก็แตกต่างกัน คนหนุ่มอาจจะเป็นนายหมู่ของชายคนหนึ่งที่มีอายุถึง 68 ปี นักศึกษาอาจเป็นผู้นำของศาสตราจารย์ แต่ว่าไม่ช้าไม่นานนัก ศาสตราจารย์ก็จะมีโอกาสเป็นผู้นำ นักศึกษานั้นบ้างก่อนที่การฝึกอบรมจะสิ้นสุดลง
ถ้าเป็นการฝึกอบรมวิชาผู้กำกับลูกเสือสามัญหมู่ต่าง ๆ จะออกจากค่ายไปสู่ป่าเอปปิง เป็นเวลา 24 ชั่วโมง เพื่อเดินทางไกลพักแรมคืน การเดินทางไกลนี้เป็นที่ตื่นเต้นและสนใจของผู้เข้ารับการฝึกอบรมมาก
การชุมนุมรอบกองไฟครั้งสุดท้ายได้มาถึงเร็วกว่าที่สมาชิกทุกคนคาดหมาย ผู้อำนวยการค่ายได้กล่าวเตือนผู้เข้ารับการฝึกอบรมทุกคนถึงข้อความที่ท่านได้กล่าวไว้แล้วในการชุมนุมรอบกองไฟครั้งแรก กล่าวคือ เป็นภารกิจของผู้เข้ารับการฝึกอบรมทุกคนที่จะทำอย่างไรเพื่อให้การฝึกอบรมครั้งนั้นประสบผลสำเร็จดีที่สุด ถ้าเขาต้องการเช่นนั้น ผู้อำนวยการค่ายได้เตือนผู้เข้ารับการฝึกอบรมถึงงานของแต่ละคนที่จะมีมาในวันข้างหน้าได้เตือนด้วยว่า ยังมีเด็กอีกเป็นจำนวนมากที่ต้องการความช่วยเหลือจากเรา ได้เตือนว่ายังมีผู้กำกับอื่นอีกที่ทำงานอย่างเดียวกับเรา แต่อาจมิได้ทำโดยวิธีเดียวกันที่เราจะทำ
การฝึกอบรมก็สิ้นสุดลง คงเหลือแต่การทำความสะอาดเครื่องมือเครื่องใช้ ในวันรุ่งขึ้นแม้ว่าทุกคนจะกลับไปสู่สภาพเดิมของชีวิตตน ทุกคนก็ได้มองเห็นชั่วครู่หนึ่งซึ่งสภาวะของชีวิตที่มีคุณค่าอันควรจะติดตามต่อไป
เช้าวันสุดท้ายจะเห็นทุกหมู่รีบเร่งช่วยกันทำงาน เพราะมีหลายสิ่งหลายอย่างที่ต้องทำความสะอาด มีหลายสิ่งที่ต้องจัดเก็บให้เรียบร้อย ผ้าผูกคอและเชือกสำหรับผูกเงื่อนเป็นสิ่งที่วางไว้ที่ไหนหาได้ยาก รองผู้กำกับหรือพลาธิการจะทำหน้าที่เข้มงวดกว่าที่เคยเป็นมา และจะไม่ยอมรับหม้อที่ล้างไม่สะอาดดีพอ ต้องขอให้ไปทำใหม่ ในที่สุดทุกสิ่งทุกอย่างก็สิ้นสุดลง คงมีการตรวจแต่ละหมู่อีกครั้งหนึ่ง ผู้เข้ารับการฝึกอบรมทุกคนถอดผ้าผูกคอตามสีของตนซึ่งแตกต่างกัน ครั้นแล้วทุกคนไปพร้อมกัน ณ เสาธงประจำค่าย ทำการสวดมนต์และทบทวนคำปฏิญาณของลูกเสือตามภาษาของผู้เข้ารับการฝึกอบรมจากประเทศต่าง ๆ ก็เชิญธงของประเทศตนลง
พิธีการนี้ดูเป็นพิธีการที่ง่าย ๆ แต่ว่าเร้าใจและประทับใจมาก เพราะแสดงว่ากิจการลูกเสือนั้นอาจสร้างความภาคภูมิใจให้เกิดขึ้นในชาติ และสร้างมิตรภาพและภราดรภาพให้แก่นานาประเทศด้วย การฝึกอบรมมิเพียงได้ทำให้บรรลุถึงความมุ่งหมายที่ได้ตั้งใจไว้หรือเพื่อแก้ไขสิ่งที่แตกต่างกันให้หมดไปเท่านั้น แต่การฝึกอบรมครั้งนี้ยังได้เสริมสร้างความเชื่อมั่นของเราให้มั่นคงยิ่งขึ้น ครั้นแล้วได้ส่งให้ผู้บังคับบัญชาลูกเสือที่มาเข้ารับการฝึกอบรมได้กลับไปยังบ้านของตนในฐานะปัจเจกบุคคลที่มีความจงรักภักดีต่อประเทศชาติของตน และในเวลาเดียวกันก็ทำการผูกมิตรไมตรีกับประเทศชาติอื่นด้วย

ข้อมูลจาก Sommart Sungkapun

ไม่มีความคิดเห็น:

เครื่องแบบลูกเสือ การแต่งเครื่องแบบลูกเสือ กางเกง  ชายกางเกงขาสั้น ผ้าผูกคอ     ใช้ผ้าผูกคอตามสังกัด   (เช่น ลูกเสือเขตการศึกษา 8  เช...

ค้นหาบล็อกนี้