Translate

หน้าเว็บ

25 มิถุนายน 2565

ไม้ถือของผู้บังคับบัญชาลูกเสือ

ไม้ถือของผู้บังคับบัญชาลูกเสือ

การใช้ไม้ถือของผู้บังคับบัญชาลูกเสือ  จะใช้ในโอกาสที่ควบคุมแถวลูกเสือในพิธีใดๆ       ที่ลูกเสือถือไม้พลอง /ไม้ง่ามหรือในโอกาสที่

๑. เมื่อประจำแถวลูกเสือ ในการตรวจพลสวนสนาม

๒. เมื่อประจำแถวลูกเสือกองเกียรติยศ กองรักษาการณ์

๓. เวลาเชิญธงคณะลูกเสือแห่งชาติ ธงลูกเสือประจำจังหวัด  ธงประจำกองลูกเสือ

๔. เมื่อมีคำบอกหรือมีคำสั่งของผู้บังคับบัญชา

ลักษณะและขนาดไม้ถือของผู้บังคับบัญชาลูกเสือ

ไม้ถือของผู้บังคับบัญชาลูกเสือ ทำด้วยไม้ลักษณะกลม เรียว เรียบไม่มีลวดลาย สีน้ำตาลแก่  หัวไม้และปลายไม้มีปลอกทำด้วยทองเหลืองหุ้ม ประกอบด้วยตราคณะลูกเสือแห่งชาติ  ห้อยพู่แสดงสังกัดของผู้ถือ  ๒ พู่

ขนาด

ความยาวตลอดตัวไม้ถือจากหัวไม้ถึงปลายไม้   ๗๕ เซนติเมตร

เส้นผ่าศูนย์กลางหัวไม้   ๑.๘ เซนติเมตร

เส้นผ่าศูนย์กลางกลางไม้   ๑.๕ เซนติเมตร

เส้นผ่าศูนย์กลางปลายไม้   ๑.๒ เซนติเมตร

ปลอกทองเหลืองหุ้มหัวไม้ยาว     ๖ เซนติเมตร

ปลอกทองเหลืองหุ้มปลายไม้     ๔ เซนติเมตร

ปลอกตราคณะลูกเสือแห่งชาติหุ้มกลางไม้จากหัวไม้   ๑๖ เซนติเมตร

พู่ 2 พู่ผูกกลางไม้ ห่างจากหัวไม้   ๑๒ เซนติเมตร

ตัวพู่ (ขนาดโตพอสมควร) ยาว     ๗ เซนติเมตร

เชือก พู่ทำด้วยไหมถักยาว     ๖ เซนติเมตร

สีและเชือกพู่

ผู้บังคับบัญชาลูกเสือสามัญ             พู่สีเขียว           เชือกพู่สีเขียว

ผู้บังคับบัญชาลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่             พู่สีเลือดหมู      เชือกพู่เลือดหมู

ผู้บังคับบัญชาลูกเสือวิสามัญ             พู่สีแดง           เชือกพู่สีแดง

(ลูกเสือสำรองไม่มีอาวุธ ผู้บังคับบัญชาลูกเสือสำรองไม่มีไม้ถือ)

ผู้ตรวจการลูกเสือคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ      พู่สีม่วง           เชือกพู่สีม่วง

ผู้ตรวจการลูกเสือคณะกรรมการบริหารลูกเสือจังหวัด        พู่สีม่วง-เหลือง  เชือกพู่สีม่วง

ผู้ตรวจการลูกเสือคณะกรรมการบริหารลูกเสืออำเภอ          พู่สีม่วง-แดง      เชือกพู่สีม่วง

ผู้ตรวจการลูกเสือหมายถึง ตำแหน่งผู้ตรวจการทุกตำแหน่ง ผู้ช่วยผู้ตรวจการ รองผู้ตรวจการและผู้ตรวจการ


ลักษณะและขนาดไม้ถือของผู้บังคับบัญชาลูกเสือ






วิธีใช้ไม้ถือของผู้บังคับบัญชาลูกเสือ

๑. วิธีถือไม้ถือในท่าปกติ

ในท่าปกติไม้ถือจะถูกหนีบอยู่ในซอกรักแร้ระหว่างแขนซ้ายกับข้างลำตัว  แขนท่อนบนแนบขนานกับลำตัวหนีบไม้ไว้  แขนซ้ายท่อนล่างงอเหยียดตรงไปข้างหน้าในแนวระดับ   มือซ้ายกำโคนไม้ถือ ห่างจากหัวไม้ประมาณ ๑  ฝ่ามือ  ฝ่ามือหงายขึ้นให้ไม้ถือนอนอยู่ในแนวขนานกับพื้น  นิ้วหัวแม่มือชี้ขนานไปกับหัวไม้



๒. ท่าบ่าอาวุธ

ท่าบ่าอาวุธ เป็นท่าที่ผู้บังคับบัญชาลูกเสือผู้ถือไม้ถือปฏิบัติในกรณีที่มีคำสั่งให้ลูกเสือทำท่าวันทยาวุธ  หรือท่าแบกอาวุธ เมื่อสิ้นคำบอกว่า  “ตรงหน้า(ทางซ้าย-ขวา)ระวัง” หรือคำว่า  “แบก  อาวุธ”  ให้ผู้ถือไม้ถือทำท่าบ่าอาวุธ

ท่าบ่าอาวุธ ตัวผู้ปฏิบัติอยู่ในท่าใช้มือขวาจับโคนไม้ถือแนบกับข้างลำตัวทางขวาให้นิ้วทั้ง ๔ เรียงชิดติดกันอยู่ด้านนอกลำตัว   หัวแม่มืออยู่ด้านใน ให้โคนไม้อยู่ระหว่างนิ้วชี้กับนิ้วหัวแม่มือ ปลายไม้อยู่แนบร่องไหล่ขวา มือซ้ายนิ้วทั้ง ๕ เหยียดตรงและเรียง

ชิดติดกัน  นิ้วกลางแตะกึ่งกลางขาท่อนบนประมาณแนวตะเข็บกางเกง เปิดฝ่ามือด้านนิ้วก้อยเล็กน้อย  สายตามองตรงไปข้างหน้าในแนวระดับ

วิธีปฏิบัติ   การปฏิบัติขั้นตอนจากท่าไม้ถือในท่าปกติ  การปฏิบัติมี ๓ จังหวะ

จังหวะที่ ๑  ใช้มือขวาจับโคนไม้ถือให้ฝ่ามือคว่ำลง  นิ้วหัวแม่มือวางทาบไม้ถืออยู่ด้านใน นิ้วทั้ง ๔ เรียงชิดติดกันอยู่ด้านนอก

จังหวะที่ ๒  ชักไม้ถือออกจากซอกรักแร้ซ้าย  ยกปลายไม้ถือขึ้นข้างบน ไม้ถือตั้งตรงในแนวดิ่ง  แขนขวาเหยียดตึง  แล้วลดไม้ถือลงมา โดยการงอข้อศอกขวา ให้มือขวาที่กำไม้ถืออยู่เสมอแนวคาง ห่างจากคางประมาณ ๑ ฝ่ามือ  หัวแม่มือขวาวางทาบตามแนวด้ามไม้ถือด้านใน นิ้วนอกนั้นกำด้ามไม้ถือ

จังหวะที่ ๓  ลดไม้ถือในมือขวาลงมาอยู่ในท่าตรง  โดยมือขวาจับด้ามไม้ถือไว้ระหว่างนิ้วชี้กับนิ้วหัวแม่มือ  วางไม้ถือพิงกับบ่าให้ปลายไม้ถือชี้ขึ้นข้างบนและแนบในร่องไหล่ขวาพร้อมกับปล่อยมือซ้ายลงข้างลำตัวในลักษณะท่าตรง


๓. ท่าเก็บไม้ถือ

ท่าเก็บไม้ถือเป็นท่าที่ผู้บังคับบัญชาลูกเสือที่ถือไม้ถืออยู่ในท่าบ่าอาวุธ  โดยลูกเสือ มีไม้

พลองหรือไม้ง่ามอยู่ในท่าแบกอาวุธ ให้ผู้บังคับบัญชาลูกเสือทำท่าเก็บไม้ถือ

วิธีปฏิบัติ  ขั้นตอนการปฏิบัติท่าเก็บไม้ถือจากท่าบ่าอาวุธ มี ๓ จังหวะ

จังหวะที่ ๑  เมื่อสิ้นคำบอกว่า “เก็บไม้ถือ” หรือคำบอก  “เรียบอาวุธ”  ให้ชูมือขวาที่ถือไม้ถือขึ้นเหนือศีรษะจนสุดแขน ปลายไม้ชี้ขึ้นข้างบน  ไม้ถือตรงในแนวดิ่ง

จังหวะที่ ๒  ลดปลายไม้ถือลงไปทางด้านซ้ายของลำตัว  พร้อมกับยกแขนซ้ายขึ้นมารับไม้ถือ  สอดไม้ถือลงในซอกแขนซ้ายกับลำตัว  ไม้ถือวางอยู่บนแขนซ้ายที่งอขึ้นมารับ  มือซ้ายจับไม้ถือในท่าถือไม้ถือท่าปกติ

จังหวะที่ ๓  ลดมือขวาจากด้ามไม้ถือกลับลงมาแนบขาขวาอยู่ในท่าตรง










๔. ท่าแสดงความเคารพอยู่กับที่

เป็นท่าที่ผู้บังคับบัญชาลูกเสือที่ถือไม้ถือปฏิบัติต่อจากท่าบ่าอาวุธโดยได้ปฏิบัติอยู่ในท่าบ่าอาวุธอยู่แล้ว เมื่อได้ยินคำบอกว่า  “ตรงหน้า(ทางขวา-ทางซ้าย)ระวัง”    คำบอกต่อไปว่า  “วันทยา-วุธ” สิ้นคำบอกให้ทำท่าวันทยาวุธต่อจากท่าบ่าอาวุธ

วิธีปฏิบัติ  การปฏิบัติท่าวันทยาวุธต่อจากท่าบ่าอาวุธ มี ๒ จังหวะ

จังหวะที่ ๑  เมื่อได้ยินคำบอกว่า  “ตรงหน้า(ทางขวา-ซ้าย)ระวัง”   และคำต่อไปว่า  “วันทยา-วุธ”    เมื่อสิ้นคำบอกว่า  วุธ   มือขวายกไม้ถือขึ้นเสมอคาง ห่างประมาณ ๑ ฝ่ามือ

จังหวะที่ ๒  ลดปลายไม้ถือลงไปข้างหน้าให้ปลายไม้ถือเฉียงลงล่างในแนวปลายเท้าขวา  ปลายไม้สูงจากพื้นดินประมาณ ๑ คืบ  มือขวาอยู่ข้างขาขวานิ้วหัวแม่มือขวาแนบอยู่กับโคนไม้ถือและอยู่บนไม้ถือปลายนิ้วหัวแม่มือชี้ไปตามแนวปลายไม้แขนขวาเหยียดตึงเต็มที่


๕. ท่าเรียบอาวุธจากท่าบ่าอาวุธ

เป็นท่าที่ผู้บังคับบัญชาลูกเสือปฏิบัติเมื่อได้รับคำบอกว่า  “เรียบ-อาวุธ”จากท่าวันทยาวุธอยู่กับที่ที่กำลังปฏิบัติอยู่

วิธีปฏิบัติ  การปฏิบัติแบ่งออกเป็น ๒ ขั้นตอน  ขั้นตอนแรกปฏิบัติเมื่อสิ้นคำบอกว่า  “เรียบ”  และขั้นตอนที่ ๒ เมื่อสิ้นคำว่า  “อาวุธ”

ขั้นตอนที่ 1  เมื่อผู้บังคับบัญชาลูกเสือได้ยินคำบอก  “เรียบ”  ให้ปฏิบัติท่าบ่าอาวุธ

ขั้นตอนที่ 2  เมื่อได้ยินคำบอกต่อไปว่า  “อาวุธ” สิ้นสุดลง ให้ปฏิบัติท่าเก็บไม้ถือ














๖. การรายงาน

เมื่อผู้บังคับบัญชาลูกเสือสั่งลูกเสือทำท่าวันทยาวุธและตัวผู้บังคับบัญชาลูกเสือปฏิบัติท่าวันทยาวุธเรียบร้อยแล้ว  ผู้บังคับบัญชาลูกเสือที่จะเข้าไปรายงาน  ห่างจากผู้รับรายงานประมาณ  ๓ ก้าว  เมื่อรายงานเรียบร้อยแล้ว ถอยหลัง ๑ ก้าวทำท่ากลับหลังหัน วิ่งกลับมายืนที่จุดเดิมแล้วบอกให้ลูกเสือเรียบอาวุธ

วิธีปฏิบัติ  ขั้นตอนการปฏิบัติในการไปรายงานผู้รับการเคารพจากท่าวันทยาวุธด้วยไม้ถือมี ๓ ขั้นตอน

ขั้นตอนที่ 1  ขั้นตอนการรายงานเริ่มจากผู้บังคับบัญชาลูกเสือตั้งแถวทำวันทยาวุธและผู้บังคับบัญชาได้ทำท่าวันทยาวุธอยู่ในจังหวะที่ ๒ แล้ว การปฏิบัติในการรายงานตอนที่ ๑  มี ๒ จังหวะ

จังหวะที่ ๑  ยกไม้ถือในมือขวาขึ้นเสมอปาก  ตามองจับที่ผู้รับการรายงาน

จังหวะที่  ๒  ยกมือซ้ายขึ้นกำเสมออก ตบเท้าซ้ายลงตรงหน้าในท่าวิ่ง  ออกวิ่งตรงไปหาผู้รับรายงาน


ขั้นตอนที่ ๒  เมื่อวิ่งไปถึงจุดรายงานตรงหน้าผู้รับรายงานห่างประมาณ ๓  ก้าว ให้ปฏิบัติดังนี้พร้อมกันคือ หยุดวิ่ง ชิดเท้าพร้อมกับลดแขนซ้ายลงแนบลำตัวและลดไม้ถือลงอยู่ในท่าวันทยาวุธ แล้ว กล่าวรายงาน

ขั้นตอนที่ ๓  เมื่อกล่าวรายงานเสร็จแล้ว ให้ถอยหลัง ๑ก้าว ทำท่ากลับหลังหันวิ่งไปเข้าที่หน้าแถวสั่งลูกเสือเรียบอาวุธ  ปฏิบัติดังนี้

จังหวะที่ ๑  ยกไม้ถือขึ้นเสมอปาก   ถอยหลัง ๑ ก้าว  ทำท่ากลับหลังหัน

จังหวะที่ ๑  ยกมือซ้ายขึ้นกำเสมออกตบเท้าซ้ายลงตรงหน้า  ทำท่าวิ่งกลับไปหน้าแถว  ถึงจุดที่หน้าแถวที่ยืนอยู่เดิม หยุดวิ่ง  ลดมือซ้ายลง  ชิดเท้า ปฏิบัติทั้ง ๓ อย่างพร้อมกัน

จังหวะที่  3  ทำท่ากลับหลังหัน  ลดไม้ถือลงอยู่ในท่าวันทยาวุธ  ออกคำสั่ง  “เรียบ-อาวุธ”   ปฏิบัติท่าเรียบอาวุธ


๗. การเดินตามผู้รับการเคารพตรวจแถวกองเกียรติยศ

เมื่อผู้รับการเคารพรับรายงานเรียบร้อยแล้ว  ทำการตรวจแถวกองเกียรติยศหรือตรวจพลสวนสนาม ให้ผู้บังคับบัญชาลูกเสือผู้เข้ารายงานเคลื่อนตัวมาอยู่ทางขวามือของผู้รับการเคารพห่างประมาณ ๒ก้าว  เยื้องไปข้างหลังเล็กน้อย  ปรับเท้าเดิน  พร้อมเดินตามผู้รับการเคารพไปจนสุดแถวลูกเสือของตน เรียบร้อยแล้วจึงสั่งเรียบอาวุธ

วิธีปฏิบัติ  การปฏิบัติในการเดินตามผู้รับการเคารพตรวจพลหรือตรวจกองเกียรติยศมี 3 ขั้นตอน

ขั้นตอนที่ ๑ เมื่อผู้รับการเคารพรับรายงานแล้ว  จะทำการตรวจพลหรือตรวจแถวกองเกียรติยศ  ผู้บังคับบัญชาลูกเสือผู้ติดตามเคลื่อนตัวไปทางซ้ายอ้อมหลังผู้รับการเคารพในท่าวันทยาวุธ  มาอยู่ขวามือของผู้รับการเคารพ ห่างประมาณ 2 ก้าว เยื้องไปข้างหลังเล็กน้อย

ขั้นตอนที่ ๒  ปรับเท้าเข้ากับผู้รับการเคารพ  ผู้ทำการตรวจพลหรือตรวจแถวกองเกียรติยศไปจนสุดแถวลูกเสือในท่าวันทยาวุธ

ขั้นตอนที่ ๓  เมื่อผู้รับการเคารพตรวจพลหรือตรวจแถวกองเกียรติยศไปจนสุดแถวและจะกลับไปขึ้นแท่นหรือปะรำพิธี  ให้ผู้บังคับบัญชาลูกเสือเดินตามไปส่งระยะทางพอสมควร(ประมาณครึ่งทาง) แล้วจึงแยกตัวออก  ยกไม้ถือขึ้นเสมอปาก  วิ่งกลับไปที่เดิมหน้าแถวของตน  เมื่อผู้รับการเคารพขึ้นแท่นหรือนั่งในปะรำพิธีแล้ว จึงสั่งลูกเสือเรียบอาวุธ(ในระหว่างการเดินตามการตรวจให้ผู้บังคับบัญชาลูกเสือถือไม้ถือในท่าวันทยาวุธตลอดเวลา)


๘. ท่าวันทยาวุธในขณะเคลื่อนที่สวนสนาม

ในการที่ผู้บังคับบัญชาลูกเสือควบคุมแถวลูกเสือที่มีอาวุธเดินหรือสวนสนามก่อนออกเดินต้องออกคำสั่งให้ลูกเสือแบกอาวุธ  ผู้บังคับบัญชาผู้ควบคุมแถวทำท่าบ่าอาวุธ  เมื่อจะผ่านผู้รับการเคารพ ให้สั่งว่า  “ระวัง – แลขวา,ซ้าย ทำ”  ผู้บังคับบัญชาลูกเสือทำท่าวันทยาวุธในขณะเคลื่อนที่(ในการสวนสนามจะมีระยะกำหนดให้เพื่อการปฏิบัติเป็นขั้นตอนโดยใช้เครื่องหมายธง ซึ่งจะมีสามธงด้วยกัน)

วิธีปฏิบัติ  ขั้นตอนการปฏิบัติการทำความเคารพท่าวันทยาวุธด้วยไม้ถือในขณะเคลื่อนที่มี ๓ ขั้นตอนโดยมีธง  ๓  ธงเป็นเครื่องหมายระยะการปฏิบัติ

ขั้นตอนที่ ๑  เมื่อถึงธงที่ ๑ ก่อนถึงผู้รับการเคารพให้ทำ  “ระวัง” คือยกไม้ถือจากท่าบ่าอาวุธขึ้นมาเสมอปาก แขนซ้ายยังแกว่งอยู่

ขั้นตอนที่ ๒ เมื่อถึงธงที่ ๒ คำบอก  “แลขวา- ทำ”  ให้ฟาดไม้ถือลงในท่าวันทยาวุธ  พร้อมกับสะบัดหน้าแลขวา  ทิ้งแขนลงข้างลำตัวไม่แกว่งแขนทั้งสองข้าง

       ขั้นตอนที่ ๓  เมื่อถึงธงที่ ๓ ยกไม้ขึ้นเสมอปากแล้วลดลงในท่าบ่าอาวุธสะบัดหน้าแลตรง

และเดินต่อไปในท่าปกติ แกว่งแขนทั้งสองข้าง



ไม่มีความคิดเห็น:

เครื่องแบบลูกเสือ การแต่งเครื่องแบบลูกเสือ กางเกง  ชายกางเกงขาสั้น ผ้าผูกคอ     ใช้ผ้าผูกคอตามสังกัด   (เช่น ลูกเสือเขตการศึกษา 8  เช...

ค้นหาบล็อกนี้