การลูกเสือกับการศึกษา
ในโอกาสนี้ใคร่ขอนำบทความที่เขียนไว้หลายปีแล้วเสนอเป็นแนวทางเรื่องการลูกเสือกับการศึกษาให้ได้พิจารณา
ในปีการศึกษา ๒๕๓๓ กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศให้วิชาลูกเสือเป็นวิชาบังคับในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้นสำหรับโรงเรียนทั่วประเทศ
โดยได้พิจารณาเห็นว่าวิชาจะสามารถสร้างเสริมลักษณะนิสัยที่ดีต่างๆ
เช่นความรับผิดชอบ ความมีระเบียบวินัย และความเป็นพลเมืองดีแก่เยาวชนของชาติได้เป็นอย่างดี
ความหมายของการศึกษา
เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่า
การศึกษาเป็นเรื่องของการพัฒนาคนในด้านความรู้ สติปัญญา ความสามารถ อาชีพ ค่านิยม
อุดมการณ์ และการปรับตนเองให้เข้ากับสังคม
แต่การจัดการศึกษาไทยในอดีตและปัจจุบันนั้น แม้อุดมการณ์การจัดการศึกษาจะกว้างและครอบคลุมวัตถุประสงค์ไว้หมดทุกประการแต่ในทางปฏิบัติจริงส่วนใหญ่ยังคงมุ่งที่จะแข่งขันกันสร้างความเป็นเลิศทางวิชาการในการศึกษาทุกระดับทำให้ผู้ที่สำเร็จการศึกษาออกมาแล้วกลับมาสร้างให้เกิดปัญญาต่อสังคมมากมาย
และที่สำคัญคือการที่คนในปัจจุบันขาดความสำนึกในการยอมรับระเบียบกฎเกณฑ์และกติกาของสังคม
ขาดความสำนึกในหน้าที่ ขาดความรับผิดชอบต่อส่วนรวม
ซึ่งถึงแม้ประเทศไทยของเราจะมีผู้ทรงคุณวุฒิ
หรือผู้มีความรู้มากมายก็คงไม่สามารถแก้ปัญหาของบ้านเมืองได้ ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องปลูกฝังทางด้านคุณธรรม
จริยธรรม และด้านความประพฤติแก่บุคคลในสังคม
ในระดับการศึกษาที่สามารถกระทำได้อย่างเต็มที่ได้แก่
การกระทำในสถานศึกษาระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษาเท่านั้น
หากการจัดการศึกษาต้องการจะปูพื้นฐานและบรรจุอุดมการณ์หรือแนวทางที่ประสงค์จะให้คนในสังคมเป็นไปในแนวทางใดเมื่อได้เจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่ก็ต้องกระทำในวัยนี้
การลูกเสือคืออะไร
การลูกเสือ คือ
ขบวนการเยาวชนมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การศึกษาและพัฒนาเยาวชนให้เป็นพลเมืองดี
โดยไม่คำนึงถึงเชื่อชาติ ศาสนา ทั้งนี้เป็นไปตามความมุ่งหมาย
หลักการและวิธีการซึ่ง ลอร์ด เบเดน- โพเอลล์ หมายถึงวิธีการฝึกอบรมการเป็นพลเมืองดีให้แก่เด็กชายและเด็กหญิงโดยใช้การเล่นเป็นเครื่องมือในการฝึกหัดที่เหมาะสมกับความต้องการและสัญชาตญาณของเด็กและในขณะเดียวกันก็เป็นการศึกษาไปในตัวด้วย
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานกำเนิดลูกเสือไทย
เมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๔๕๔
โดยมีพระราชประสงค์อย่างยิ่งเพื่อพัฒนาเยาวชนให้เป็นกำลังสร้างความมั่นคงให้แก่ชาติบ้านเมือง
ทรงดำริว่า
การใดๆที่ได้เริ่มจัดขึ้นแล้วและซึ่งจะได้จัดขึ้นอีกต่อไปก็ล้วนทำไปด้วยความมุ่งหมายที่จะให้เป็นประโยชน์นำความเจริญมาสู่ชาติอย่างน้อยก็เพียงไม่ต้อให้อายเพื่อนบ้านในการตั้งลูกเสือ
ก็เพื่อให้คนไทยมีความรักชาติบ้านเมือง เป็นผู้นับถือศาสนา และมีความสามัคคี
ไม่ทำลายซึ่งกันและกันเพื่อเป็นรากฐานแห่งความมั่นคงของประเทศชาติและทรงให้ความหมายของคำว่าลูกเสือว่า
“ ลูกเสือ บ่ใช้เสือสัตว์ไพร
เรายืมชื่อมาใช้ ด้วยใจกล้าหาญปานกัน
ใจกล้า ใช่กล้าอาธรรม์
เช่นเสืออรัญสัญชาติ ชนคนพาล
ใจกล้า ต้องกล้าอย่างอย่างทหาร
กล้ากอปรกิจการ
แก่ชาติประเทศของตน ”
อุดมการณ์ของการลูกเสือ
อุดมการณ์ของคณะลูกเสือแห่งชาติเพื่อพัฒนาเยาวชนทั้งกาย
สติปัญญา จิตใจ และศีลธรรมให้เป็นพลเมืองดี มีความรับผิดชอบช่วยสร้างสรรค์สังคมที่ตนอยู่อาศัยให้ดีมีความสุขประเทศชาติมีความมั่นคง
กิจการลูกเสือนับเป็นพระราชมรดกอันล่ำค่าทั้งที่มิได้เป็นสิ่งของ
สิ่งก่อสร้างหรือทรัพย์สินเงินทองตามความเข้าใจกันทั่วไป
เมื่อกล่าวถึงคำว่ามรดกหรือทรัพย์สินเงินทองตามความเข้าใจกันทั่วไปเมื่อกล่าวถึงคำว่ามรดก
พระราชมรดกนี้เป็นทรัพย์สินทางปัญญา เป็นอุดมการณ์ เป็นแนวทางแห่งชีวิต
ซึ่งถ้าหากมีการปฏิบัติตามโดยสม่ำเสมอแล้วความเจริญก็จะเกิดขึ้นทั้งทางกายและทางใจ
ทั้งในส่วนตน ส่วนชุมชน ส่วนบ้านเมือง ทุกส่วนของโลกและมนุษย์
อุดมการณ์นี้สรุปได้ในคำปฏิญาณตนของลูกเสือที่ว่าจะบำเพ็ญตนเป็นประโยชน์เป็นเพียงคำไม่กี่คำ
จำได้ง่าย กินความหมายลึกซึ้งและใช้ได้สำหรับทุกคนทุกชาติ
การที่จะปฏิบัติให้ได้ตามอุดมการณ์นี้แต่ละคนจำเป็นต้องเรียนรู้และฝึกฝนให้ตนเองมีคุณธรรมหลายประการอาทิ
ต้องอยู่ในระเบียบวินัย ต้องมีศีลธรรม ปฏิบัติตามคำสอนทางศาสนาโดยเคร่งครัด
ต้องเห็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน ยอมเสียสละออกกำลังกาย กำลังทรัพย์ เวลา
ตลอดจนความผาสุกส่วนตัว
ใช้เวลาไปในการฝึกฝนคุณธรรมร่วมปฏิบัติกรณียกิจอันเกิดประโยชน์
การลูกเสือนับเป็นการปฏิวัติในทางการศึกษาเป็นความจริงที่ว่าการลูกเสือมุ่งที่จะอบรมเด็กในเรื่องที่โรงเรียนไม่สามารถฝึกสอนได้
การลูกเสือสอนให้เด็กรู้จักการดำรงชีวิตมิใช่เพียงเพื่อให้มีอาชีพ
การสอนให้เด็กมีความทะเยอทะยานที่จะชิงทุนรางวัลและทุนเล่าเรียนตลอดจนการสอนให้เด็กเห็นว่าความสำเร็จคือการมีเงินเดือน
ตำแหน่งและอำนาจนั้นมีอันตรายอยู่มากเว้นเสียแต่ว่าจะมีการสอนในเรื่องบำเพ็ญประโยชน์แก่ผู้อื่นพร้อมกันไปด้วย
เด็กในปัจจุบันมีความเก่ง รอบรู้สารพัด
เด็กในระดับประถมศึกษาสามารถรู้เรื่องราวรอบๆตัวเองมากมายเพราะได้รู้ได้เห็นสิ่งต่างๆและมีเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆที่ทันสมัยแต่จุดอ่อนของตนปัจจุบันที่เห็นกันอยู่คือเป็นคนหนักไม่เอา
เบาไม่สู้ ไม่ค่อยสู้งาน
ขาดความสำนึกรับผิดชอบงานต่อส่วนรวมเพราะมุ่งที่จะเอาความสะดวกสบายของตนเองเป็นที่ตั้ง
โดยเหตุที่ความเห็นแกตัวฝังอยู่ในจิตใจของชนทุกชั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่เราจะได้รับผลคือ
การแบ่งแยกภายในประเทศ
กล่าวคือมีผู้เห็นแก่ตัวพยายามชิงดีชิงเด่นซึ่งกันและกันโดยไม่คำนึงถึงศีลธรรม
นอกจากนี้แล้วก็มีการแตกแยกเป็นคณะและพรรคการเมือง นิกายทางและการแบ่งชั้นในสังคม
ทั้งนี้ย่อมเป็นอันตรายต่อส่วนได้ส่วนเสียของชาติและความสามัคคีในชาติ
ความมุ่งหมายในการฝึกอบรมลูกเสือ
การลูกเสือมีอุดมคติในการบำเพ็ญประโยชน์เพื่อเพื่อนมนุษย์
ก็เพื่อให้เอาเรื่อง “ส่วนรวม” มาแทน
“ส่วนตัว”
ต้องการให้เด็กแต่ละคนมีสมรรถภาพทั้งในทางใจและทางกาย
เน้นการใช้หลักธรรมในการดำเนินชีวิตและกิจกรรมประจำวัน
การฝึกอบรมลูกเสือใช้วิธีการฝึกตามระบบหมู่เป็นเครื่องช่วยให้เด็กมีโอกาสแสดงออกเป็นส่วนรวม
การให้ร่วมกันทำงานเป็นการทำให้เด็กรู้จักความรับผิดชอบ
หลักสำคัญของการลูกเสือนั้น
เพื่อการสร้างสรรค์ให้เยาวชนเป็นพลเมืองดี โดยมีแนวการฝึก ๔ ประการ
ประการแรกคือ
การสร้างลักษณะนิสัยให้เด็กเป็นผู้มีความยุติธรรม รู้จักการเสียสละไม่เห็นแก่ตัวและมีความสำนึกในหน้าที่ตนมีต่อผู้อื่นและที่สำคัญคือเป็นผู้มีวินัย
ชาติที่จะเจริญรุ่งเรืองได้จะต้องมีวินัยดี เราจะให้ส่วนรวมมีวินัยดีได้
ก็โดยทำให้แต่ละบุคลมีวินัยดีเสียก่อน มีผู้กล่าวว่า “ประเทศใดละเลยไม่ฝึกอบรมระเบียบวินัยแก่อนุชนของตน
ประเทศนั้นไม่เพียงแต่จะผลิตทหารที่เลวเท่านั้น
แต่ยังผลิตพลเมืองที่มีชีวิตของพลเรือนที่ชั่วร้ายอีกด้วย”
ประการที่สองคือ ด้านพลานามัย
การพยายามเร่งเร้าให้เด็กสนใจในการออกกำลังกายอยู่เสมอ
ในฐานะที่อยู่ในขบวนการลูกเสือเรามีโอกาสอย่างมากที่จะฝึกอบรมเด็กในเรื่องสุขภาพและอนามัยส่วนบุคคลจะทำให้เด็กแต่ละคนรู้จักรับผิดชอบตัวเองต่อสุขภาพของตน
รักษาอนามัยเป็นกิจวัตรซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเป็นพลเมืองดีที่มีสมรรถภาพ
ประการที่สาม
ในด้านการฝีมือและทักษะเด็กที่มีความคิดริเริ่มมักจะได้รับเลือกให้เข้าทำงาน
ทำอย่างไรเราจึงจะสามารถทำให้เด็กสนใจในเรื่องการฝีมือ
ความจริงงานอดิเรกมีประโยชน์มากเพราะช่วยให้เด็กรู้จักใช้มือและสมองอย่างมีประสิทธิภาพ
ประการสุดท้ายคือ การบำเพ็ญประโยชน์ต่อผู้อื่น
ปัจจุบันสำนักงานลูกเสือโลกเน้นในด้านการฝึกอบรมลูกเสือ ๓ ประการคือ การฝึกอบรมต้องทันสมัยต่อความปรารถนาความต้องการของเด็กในปัจจุบัน การฝึกอบรมต้องเน้นให้เกิดประโยชน์แก่ตัวเด็กเองและแก่ชุมชนที่เขาอยู่อาศัยและสิ่งที่สำคัญต้องฝึกให้เด็กยึดมั่นในอุดมการณ์ของผู้ที่ให้กำเนิดลูกเสือโลกคือ
การบำเพ็ญประโยชน์แก่ผู้อื่นทุกเมื่อ ดังคำว่า
“ อันเสือดีค่าก็มีอยู่ที่ป่า
จะเทียบค่าคนได้คงไม่สม
ลูกเสือดีมีค่าแน่แก่สังคม
เพราอบรมให้ซึ้งถึงค่าคน ”
ความมุ่งหมายทั้งหมดของการลูกเสือก็คือการนำลักษณะนิสัยเด็กที่อยู่ในวัยร้อนแรงไปด้วยความกระตือรือร้นมาหลอมให้ได้รูปที่ถูกต้องแล้วจึงส่งเสริมพัฒนาเอกัตภาพเพื่อให้เด็กศึกษาอบรมตัวของเขาเองให้เป็นผู้ใหญ่ที่ดีและเป็นพลเมืองที่มีคุณค่าสำหรับประเทศชาติได้
สำหรับการศึกษานั้น
มุ่งหวังที่จะให้มนุษย์ชาติอยู่ในสังคมอย่างมีความสุขโดยการศึกษาหาความรู้ให้ทันต่อเหตุการณ์ของสังคมปัจจุบันฉะนั้น
ความผูกพันการลูกเสือกับการศึกษาก็มุ่งที่จะให้มนุษย์ชาติอยู่ในสังคมอย่างมีความสุขและมั่นคงในชีวิต
ซึ่งอาจแบ่งบทบาทของการศึกษาได้ดังนี้คือ
๑.
พัฒนาความรู้และสติปัญญาของพลเมืองโดยส่วนรวมให้มีความรู้ความสามารถที่สูงขึ้น
๒.
ช่วยให้คนสามารถปรับตัวให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมได้ดี
ทั้งในปัจจุบันและอนาคต
๓.
ทำหน้าที่เตรียมพลเมืองดีให้แก่สังคมตามที่สังคมจะพึงปรารถนา
๔.
ช่วยพัฒนาความสามารถในการประกอบอาชีพของบุคคลให้ดำรงตนอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขและมีประสิทธิภาพทางอาชีพการงาน
๕.
ช่วยในการเตรียมกำลังคนหรือกำลังแรงงานในสาขาต่างๆตามที่สังคมหรือประเทศชาติต้องการ
๖.
เป็นการถ่ายทอดผลิตผลทางปัญญาประสบการณ์และมรดกทางวัฒนธรรมสู่คนรุ่นใหม่ต่อไป
๗.
ปลูกฝังความคิด ความเชื่อ ค่านิยมและอุดมการณ์ทางการเมือง เศรษฐกิจ
สังคมและวัฒนธรรมตามคามประสงค์ของสังคมนั้นๆ
๘.
ทำหน้าที่ในการสร้างกลุ่มพลังทางการเมือง เศรษฐกิจ
และสังคมโดยเฉพาะการเลือกหรือสรรหาชนชั้นนำ ชนชั้นสูงหรือชนชั้นปกครองประเทศ
๙.
ทำหน้าที่ในลักษณะที่เป็นโปรแกรมหรือกิจกรรมซึ่งเป็นพาหนะในการสนับสนุนการดำเนินการสนับสนุนนโยบายบางอย่างของรัฐบาลในด้านต่างๆเช่นการส่งเสริมวิทยาการและเทคโนโลยีด้านเศรษฐกิจ
การเมือง การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม ตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นต้น
จึงจะเห็นได้ว่า
การศึกษานั้นเป็นทางที่ทำให้เกิดการพัฒนาความรู้และความสามารถในด้านต่างๆส่วนการลูกเสือนั้นคือการนำความรู้ความสามารถจาการศึกษาไปปฏิบัติอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพตามความต้องการของสังคมและประเทศชาติด้วยเหตุ
การลูกเสือกับการศึกษาจึงมีความสัมพันธ์กันอย่างชนิดที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้
โดยเฉพาะอย่างยิ่งความมั่นคงของประเทศชาติต้องอาศัยการศึกษากับการลูกเสือควบคู่กันไป นอกจากนี้การลูกเสือยังมีกิจกรรมและข้อปฏิบัติที่สอดคล้องกับแผนการศึกษาแห่งชาติพุทธศักราช
๒๕๒๐
หมวดที่ ๑ ข้อที่ ๑ ความว่า “ให้มีความเคารพในสิทธิและหน้าที่ของตนเองและของผู้อื่น
มีระเบียบวินัย มีความเคารพและปฏิบัติตามกฎหมาย ศาสนา และหลักวัฒนธรรม” กับหมวดที่
๖ ข้อที่ ๕๓ ความว่า “รัฐพึงสนับสนุนกิจกรรมเยาวชนจัดการศึกษา
เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนมีบุคลิกภาพที่ดี มีระเบียบวินัย เคารพกฎหมาย
มีทัศนคคติที่ดีต่อวัฒนธรรมไทย ยึดมั่นร่วมมือกัน ธำรงรักษาและปกป้องสถาบันชาติ
ศาสนา พระมหากษัตริย์”
ซึ่งสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของคณะลูกเสือแห่งชาติที่เน้นให้ลูกเสือมีความจงรักภักดีต่อชาติ
ศาสนา พระมหากษัตริย์ รู้จักบำเพ็ญประโยชน์ต่อผู้อื่นตามคำปฏิญาณและกฎของลูกเสือ
เพื่อพัฒนาลูกเสือทั้งทาง กาย สติปัญญา จิตใจและศีลธรรมให้เป็นพลเมืองดี
มีความรับผิดชอบ
ช่วยสร้างสรรค์สังคมให้มีความเจริญก้าวหน้าเพื่อความสงบสุขและความมั่นคงของประเทศชาติ
ตามแนวทางดังต่อไปนี้
๑.
ให้มีนิสัยในการสังเกต จดจำ เชื่อฟังและพึ่งตนเอง
๒.
ให้ซื่อสัตย์ สุจริต มีระเบียบวินัยและเห็นอกเห็นใจผู้อื่น
๓. ให้รู้จักบำเพ็ญตนเพื่อประโยชน์สาธารณะ
๔.
ให้รู้จักทำการฝีมือและฝึกฝนให้ทำกิจกรรมต่างๆตามความเหมาะสม
๕.
ให้รู้จักรักษาและส่งเสริมจารีตประเพณีวัฒนธรรมและความมั่นคงของประเทศชาติทั้งนี้โดยไม่เกี่ยวข้องกับลัทธิการเมืองใดๆ
จากความหมายและเหตุผลต่างๆข้างต้นนี้
กรมหมื่นพิทยาลาภพฤฒิยากร อดีตเสนาบดีกระทรวงธรรมการได้กล่าวไว้ว่า “วิชาลูกเสือคือ
วิชาศีลธรรมภาคปฏิบัติที่เหมาะสมแก่สังคมไทยเป็นอย่างยิ่ง” และยังสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลปัจจุบันที่ส่งเสริมให้ทุกคนในชาติเป็นคนที่มีวินัยอีกด้วย
การลูกเสือมีเอกลักษณ์พิเศษที่ไม่มีกิจกรรมอื่นสามารถที่จะกระทำได้คือ “ระบบหมู่”
ได้แก่ การทำงานเป็นหมู่ มีความสมัครสมานสามัคคีภายในหมู่ของตน
มีคามเคารพในหน้าที่ของแต่ละคนที่ได้รับมอบหมายโดยดุษณีภาพ
การลูกเสือจึงเป็นที่ยอมรับของทุกประเทศในโลกที่เป็นประเทศเสรีภาพ
สำนักงานลูกเสือโลกจึงได้มีประกาศออกมาอย่างภาคภูมิว่า “ไม่มีกระบวนการใดๆที่จะพัฒนาเยาวชนให้เป็นพลเมืองดี
มีวินัยและมีความรับผิดชอบต่อสังคมที่ตนดำรงชีวิตอยู่เท่ากับกระบวนการลูกเสือ”
สรุปได้ว่า
การศึกษาเป็นเรื่องของการพัฒนาคนในด้านความรู้ สติปัญญา ความสามารถ
ค่านิยมและอุดมการณ์ เป็นการแปรสภาพของคนจากภาวะหนึ่งไปสู่อีกภาวะหนึ่ง
การแปรสภาพนี้เป็นการจงใจมีการเลือกสรรภาวะอันเป็นเป้าหมายว่าเป็นสิ่งมีค่าที่สุด
โดยกระทำเป็นระบบผ่านองค์การของสังคม ส่วนการลูกเสือเป็นเรื่องของการนำความรู้
ความสามารถจากการศึกษาไปใช้อย่างถูกขั้นตอนและมีประสิทธิภาพทำให้เป็นคนที่มีคุณค่าและมีความรับผิดชอบต่อสังคม
การศึกษากับการลูกเสือต้องมีความสัมพันธ์อย่างแน่นแฟ้น
จะต่างคนต่างทำไม่ได้ต้องสอดคล้องต้องกันทั้งด้านทฤษฎีและปฏิบัติ
ดังพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งพระราชทานแก่บรรดาลูกเสือในพิธีกราบบังคมทูลอัญเชิญให้ทรงรับตำแหน่งสภานายกกรรมการกลางจัดการลูกเสือแห่งชาติ
ในวันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๔๖๘ ตอนหนึ่งว่า
“ตามธรรมดาเด็กๆที่จะเรียนวิชาหนังสือเท่านั้นไม่พอ
ถ้าจะเรียนแต่วิชาหนังสือก็ตรงสุภาษิตโบราณที่ว่า “วิชาท่วมหัว เอาตัวไม่รอด” เราต้องฝึกหัดอย่างอื่นด้วยคือ
เราต้องฝึกหัดทั้งกาย วาจา ใจ ของเรา
ต้องฝึกหัดให้มีกำลังกายแข็งแรงอดทนสามารถทนความตรากตรำต่อไปภายหน้าได้เราย่อมรู้อยู่ทุกคนว่า
เมื่อเราโตขึ้นแล้วจะต้องทำการงานย่อมจะต้องทนตรากตรำเป็นครั้งคราวสม่ำเสมอเพราะฉะนั้นเราต้องเตรียมฝึกหัดไว้ตั้งแต่เล็กจึงจะได้และต่อไปเมื่อถึงเวลาจะต้องรับราชการสำหรับรักษาบ้านเมืองเป็นต้น
เราก็พร้อมอยู่เสมอที่จะทำได้ทันทีเพราะมีกำลังแข็งแรงอยู่แล้ว
เราต้องฝึกหัดวาจาให้พูดจาอ่อนหวาน ไม่พูดมุสาวาท
เพราะทำเช่นนั้นแล้วเราจะเข้ากับสมาคมกับเพื่อนฝูงได้ตลอดจนเมื่อจะทำราชการหรือค้าขายก็ดีความสัตย์เป็นสิ่งสำคัญที่สุด
นอกจากนี้เราต้องฝึกหัดใจของเราอีกต้องเป็นผู้ซื่อตรงต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
ต้องซื่อตรงต่อเพื่อนฝูงของเราด้วย
เมื่อได้ฝึกฝนอย่างนี้จะทำมาหากินหรือรับราชการหรือจะทำอะไรก็ย่อมจะเป็นประโยชน์ทั้งสิ้น
โอกาสที่เด็กไทยจะได้ฝึก ๓ อย่างนี้
ย่อมจะได้รับอย่างดีที่สุดเมื่อได้เป็นลูกเสือ”
ที่มา อ.สมมาตร
สังขพันธ์
#Scoutshare
#การลูกเสือกับการศึกษา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น