Translate

หน้าเว็บ

20 ตุลาคม 2561

การพัฒนาสถานศึกษาโดยใช้วิธีการของลูกเสือ

การพัฒนาสถานศึกษาโดยใช้วิธีการของลูกเสือ

การพัฒนาโรงเรียน  คืออะไร
การพัฒนาโรงเรียน  คือ การทำให้โรงเรียนเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น  เจริญก้าวหน้าไปสู่
ทิศทางตามวัตถุประสงค์  และเป้าหมายที่วางไว้ด้วยมาตรการ หลักการ  และวิธีการที่โรงเรียนกำหนดไว้
ชัดเจนแล้ว
วิธีการของลูกเสือ  เป็นวิธีการที่โรงเรียนสามารถนำมาใช้ในการพัฒนาโรงเรียนให้เดินทางไปสู่วัตถุประสงค์และเป้าหมายที่โรงเรียนกำหนดไว้ได้  โรงเรียนบ้านแสลงโทนมีนโยบายที่จะส่งเสริมให้นำวิธีการของลูกเสือ มาใช้ในการพัฒนาโรงเรียนให้มากที่สุดเท่าที่สถานภาพของโรงเรียนจะอำนวย
ตามความรู้สึกของคนทั่วไปแล้ว  โรงเรียนคือสถานที่มีคนสามกลุ่มมาทำกิจกรรมร่วมกัน  
คน  ๓ กลุ่มนี้  ได้แก่
๑.  นักเรียน   มีจำนวนมากที่สุด
๒.  ครู มีจำนวนน้อยกว่านักเรียนมาก
๓.  ภารโรง มีจำนวนน้อยที่สุด
คนแต่ละคนของแต่ละกลุ่ม  จะทำกิจกรรมตามหน้าที่ของตนไปแบบที่เรียกว่าตัวใครตัวมัน
และยังแข่งขันชิงดีชิงเด่น เอาชนะกันชนิดที่ใครดีใครอยู่  ลักษณะของการแข่งขันดังกล่าวจะเห็นชัดเจนในกลุ่มที่ ๑ คือ  กลุ่มของนักเรียน นักเรียนแต่ละคนที่มาโรงเรียน แต่ละวันจะต่างคนต่างเรียน
เป็นส่วนใหญ่  นักเรียนคนไหนเรียนเก่งจะพยายามเรียนกันให้เอาชนะคนอื่นไว้เสมอ  โดยหวังว่า
จะได้เปรียบคนอื่น  ผู้ปกครองและครูเองก็พยามยามส่งเสริมสนับสนุนนักเรียนที่เรียนไม่เก่งก็ถูกผลักดันให้แข่งให้ทันคนอื่นให้ได้  ผลที่ได้สุดท้ายก็คือ คนไม่เก่งต้องออกจากโรงเรียนกลางคัน หรือเรียนไม่จบหลักสูตรในแต่ละโรงเรียน ปีละมาก ๆ
ในกลุ่มของครูเอง  ก็แข่งขันกันเพื่อให้ได้เลื่อนขั้นเงินเดือน  ๒ ขั้น ไม่ว่าการแข่งขันนั้น
จะกระทำด้วยวิธีใด  คนที่ไม่สามารถจะแข่งขันได้ก็เกิดการท้อแท้  เบื่อหน่ายต่อการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งเป็นผลเสียต่อการทำงานโดยส่วนรวม
ในกลุ่มของภารโรงแม้จะมีจำนวนน้อย  แต่ก็เห็นได้ชัดว่าคนกลุ่มนี้ต่างคนต่างทำหน้าที่ของตน  จะไม่พยายามเกี่ยวข้องช่วยเหลือกัน ใครได้รับมอบหมายความรับผิดชอบเช่นไร  จะพยายามทำอยู่ในกรอบที่ตนได้รับผิดชอบ บางครั้งเมื่อได้รับมอบหมายให้ช่วยเหลือกัน  จะพยายามหลีกเลี่ยง
นี่คือสภาพของ  “โรงเรียน”  ในอดีตและปัจจุบัน  นักเรียนแต่ละคนมุ่งมาเอาความรู้และครู
แต่ละคนก็มุ่งจะให้ความรู้  ภารโรงแต่ละคนมุ่งหาความสบาย  แต่ละคนแต่ละกลุ่มมุ่งเพื่อให้ได้เปรียบ
คนอื่นทั้งสิ้น
ทุกวันนี้คนเรากลัวการเสียเปรียบทันที  ความร่วมมือเป็นหนทางแห่งความสำเร็จโดยสมบูรณ์และก้าวหน้าได้  ดังนั้นการสั่งสอนอบรมให้คนรู้จักร่วมมือกัน  จึงเป็นพื้นฐานสำคัญของความสำเร็จแห่งงานทั้งปวง
ด้วยเหตุนี้เอง   ดร. โกวิท วรพิพัฒน์  ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้ปรารภถึง “โรงเรียน
โรงสอน”  ไว้ในสมัยที่ท่านดำรงตำแหน่ง  อธิบดีกรมสามัญศึกษา ไว้อย่างน่าสนใจว่า
เดิมทีเดียวโรงเรียนแบบที่เราเห็นและรู้จักกันอยู่นี้ ชื่อว่า  “โรงสกูล” คือ เรียกชื่อทับศัพท์
ตามฝรั่ง  ต่อมาเรียนเป็นคำไทยว่า “โรงสอน”  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่  ๕ พระปิยมหาราช ได้ทรงเปลี่ยนจาก “โรงสอน” เป็น “โรงเรียน”
สันนิษฐานว่า  พระองค์คงทรงเห็นว่า  การเรียนการสอนที่เชื่อกันว่าดีที่สุดนั้น  คือ การเรียนการสอนที่ผู้เรียนทำจริง ปฏิบัติจริง  เรียนโดยประสบการณ์ การเรียนโดยประสบการณ์นี้ ผู้เรียนจะได้เป็นกอบเป็นกำ  เป็นเลือดเป็นเนื้อ เป็นชีวิตจิตใจ ไม่เป็นประเภทไส้ติ่ง แต่ผสมผสานเป็นตัวเป็นตนของผู้เรียน  การเรียนสถานศึกษาว่า “โรงสอน” จะเน้นไปที่ตัวครู  ยิ่งสอนภาษาอังกฤษนาน ครูจะยิ่งเก่งภาษาอังกฤษ  ครูจะเหนื่อยเพราะครูกลายเป็นผู้เรียน ออกเสียงมาก ๆ เข้า ครูก็จะพูดเก่งขึ้น  พูดเพราะขึ้น สำเนียงดีขึ้นแต่หากให้ชื่อสถานศึกษาว่า “โรงเรียน” แล้ว  คงทรงหวังว่า  การเรียนการสอนจะเน้นให้เด็กเป็นศูนย์กลาง  ให้เด็กเป็นผู้กระทำ เป็นผู้ปฏิบัติ เป็นผู้คิดเอง  วางแผนเอง แก้ปัญหาเอง
เป็นส่วนใหญ่  ครูเพียงแต่จัดบรรยากาศสิ่งแวดล้อมให้เร้าใจนักเรียน  ทำนายนักเรียน ให้นักเรียนกระเสือกกระสนหาคำตอบ ให้นักเรียนพิสูจน์ให้เห็นจริงจังว่า  ตนสามารถเป็นที่พึ่งของตนเองได้ สามารถเป็นที่พึ่งของผู้อื่นของหมู่คณะได้ สามารถทำงานกับคนอื่นกับกลุ่มได้  ฯลฯ ครูเก่ง ๆ จะท้า
จะยั่วยุ  จะซุกคำตอบ  ไม่ให้ยากเกินไป  และไม่ให้ง่ายเกินไป  สำหรับเด็กแต่ละคน แต่ละกลุ่ม  เพราะหากง่ายเกินไป ก็จะไม่ท้าทาย  ไม่น่าสนใจ ยากเกินไปผู้เรียนก็จะท้อแท้  ครูที่จัดการเรียนการสอนเก่ง ครูที่สามารถเมื่อมาทำงานที่โรงเรียนแล้วครูจะสนุก  ครูจะภูมิใจ ครูเองจะอิ่มเอิบใจ และครูจะไม่เหนื่อย เพราะครูเองจะไม่ต้องทำอะไรมาก  ครูอาจเพียงแต่มอง เพียงแต่ยิ้ม เพียงแต่พยักหน้า เพียงแต่วางแผนที่จะให้เด็กได้คิด ได้ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน  และในที่สุดแม้การวางแผน การยั่วยุ
การคิดโครงการ  การตรวจโครงการ เด็กอาจรับไปทำกันเองแทนครูมากขึ้น ๆ ครูอาจไม่ต้องทำอะไรมาก  อาจเป็นเพียงดูแลกำกับอยู่เบื้องหลังก็ได้ เด็กผู้เรียนควรจะสนุก ควรจะเหนื่อย  ควรจะหมดแรงเมื่อโรงเรียนเลิก หากครูอาจารย์ท่านใดสอนเด็กแล้วเสียงแห้ง สอนเด็กพอถึงช่วงบ่ายโรงเรียนเลิกแล้ว ครูเองเป็นฝ่ายหมดแรง  อาจสันนิษฐานได้ว่าตนเองอาจทำผิดหลักวิชาครูแล้วกระมัง อาจจะต้องหาทางปรับตัว ปรับวิธีสอน วิธีเรียน หากสอนแล้ว โรงเรียนเลิกแล้ว รู้สึกว่าไม่เหนื่อย  ยังอยากจะตามเด็กไปสอนอีก อาจจะชมตัวเองว่าเป็นครูที่สอนเป็น เป็นครูที่เก่ง สามารถไว้ก่อนได้
หากถามว่า สถาบันการศึกษาของเราเปลี่ยนชื่อจาก โรงสอน เป็น โรงเรียน  กว่า ๑๐๐ ปีแล้ว โรงเรียนเราเปลี่ยนวิธีเรียน วิธีสอนให้เสอดคล้องกับชื่อโรงเรียนหรือยัง  ผมเองยังเห็นว่าโรงเรียนเรา
ยังเป็น “โรงสอน”  มากกว่าเป็น “โรงเรียน”  หากพวกเรามั่นใจว่าแนวทางที่เราร่วมกันจัดการศึกษา เพื่อให้เกิดการพัฒนากับเด็กของเราและประเทศชาติ  โดยมุ่งให้นักเรียน คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น ให้เห็นช่องทางในการประกอบอาชีพ ให้มีศีลธรรม มีความซื่อสัตย์  อดทน มีวินัย มีความมั่นใจ
ในตนเอง  รู้จักตนเอง  สามารถทำงานเป็นกลุ่ม  สามารถพึ่งตนเองได้และสามารถช่วยหรือเป็นที่พึ่ง
ของผู้อื่นได้  มีความสามารถในการทำงานเป็นกลุ่มและเป็นสมาชิกที่ดีของสังคม  ตามระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขแล้ว เราคงต้องช่วยกันปรับโรงเรียนที่ยังมีลักษณะ
เป็นโรงสอนให้เป็นโรงเรียนให้ได้
กรมสามัญศึกษาเคยประกาศ  เรื่อง “ทิศทางในการจัดการศึกษาของกรมสามัญศึกษา”  
“จุดเน้น”  และ “สิ่งละอันพันละน้อย”  นั้น เห็นว่าที่เราร่วมกันตั้งปณิธานและกำหนดทิศทาง
จุดเน้นไว้  ตั้งแต่ปี ๒๕๓๓  ยังเหมาะสมอยู่ ขอให้เรามาร่วมกันทำให้ชัดเจน  เป็นประโยชน์แก่นักเรียนและชุมชนให้มากยิ่งขึ้น ส่วน “สิ่งละอัน พันละน้อย” ขอเพิ่มอีก ๒ ข้อ  คือเรื่องการปลูกผักสวนครัว
ในโรงเรียน  และการออกกำลังกาย  ตามนโยบายของ ฯพณฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ  
พลเอกเทียนชัย  ศิริสัมพันธ์ นอกนั้นคงเดิม  คงจะชัดเจนมากขึ้น จะเป็นประโยชน์ต่อนักเรียน  และบ้านเมืองมากยิ่งขึ้น พวกเราทั้งผู้บริหาร ครู  อาจารย์ พนักงานที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาการศึกษา
คงจะมีความอิ่มเอิบใจ  มีความภาคภูมิใจที่ได้มีส่วนสำคัญในการพัฒนาอันยิ่งใหญ่นี้  โดยทั่วกัน
ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ  ท่านต้องการให้พวกเราจัดโรงเรียน  ให้เป็นโรงเรียนอย่างแท้จริง ให้มีบรรยากาศของความช่วยเหลือเกื้อกูลกัน  มีบรรยากาศของความร่วมมือ ท่านได้เล็งเห็นว่าวิธีการของลูกเสือเป็นวิธีการที่ดีวิธีการหนึ่ง  ที่จะนำมาสร้างบรรยากาศของการร่วมมือช่วยเหลือกันให้เกิดขึ้น
ในโรงเรียน  จึงได้กล่าวไว้ในสิ่งละอันพันละน้อยที่กรมสามัญศึกษามุ่งดำเนินการ ข้อ ๕ ว่า “เราจะพัฒนาการลูกเสือ ยุวกาชาด เนตรนารี  และผู้บำเพ็ญประโยชน์ต่อส่วนรวมให้มากยิ่งขึ้น” นี่เป็น
ความมุ่งมั่นประการหนึ่งของกรมสามัญศึกษา  ซึ่งท่านอธิบดีกรมสามัญศึกษาได้ยึดถือเป็นแนวทางต่อมา  และมีคำสั่งให้หน่วยศึกษานิเทศก์ และสำนักงานคณะกรรมการการประสานงานกิจการลูกเสือ เนตรนารี  ยุวกาชาด ผู้บำเพ็ญประโยชน์ และนักศึกษาวิชาทหาร กรมสามัญศึกษาร่วมกันจัดทำแนวทาง
การพัฒนาโรงเรียนโดยใช้วิธีการทางลูกเสือ

การใช้วิธีการทางลูกเสือมาพัฒนาโรงเรียน ควรอยู่ในหลักการต่อไปนี้
๑. ต้องจัดกิจกรรมลูกเสือ – เนตรนารี  ให้เป็นไปตามหลักการ วิธีการ นโยบาย ในการฝึกอบรม  รวมทั้งจัดระบบการบริหารงานของกลุ่มลูกเสือ – เนตรนารี  ให้เป็นไปตามข้อบังคับ
คณะลูกเสือแห่งชาติให้สมบูรณ์เสียก่อน
๒.  กิจกรรมที่จัดต้องสอดคล้องกับทิศทาง  จุดเน้นด้านนักเรียน
๓.  พยายามนำวิธีการทางลูกเสือเข้าไปใช้กับกิจกรรมต่าง ๆ ให้กว้างขวางที่สุดเท่าที่สภาพ
ของโรงเรียนจะอำนวยให้ได้
๔.  ให้เน้นระบบหมู่  ความเป็นระเบียบเรียบร้อย  คำปฏิญาณและกฎของลูกเสือเป็นหลักสำคัญในการทำกิจกรรม  โดยถือว่าหมู่ลูกเสือเป็นหน่วยในการจัดกิจกรรมทั้งปวง
แนวปฏิบัติในการนำวิธีการทางลูกเสือมาใช้พัฒนาโรงเรียน
๑. จัดระบบการบริหารงานลูกเสือให้เป็นไปตามข้อบังคับคณะลูกเสือแห่งชาติ  ว่าด้วยการปกครอง หลักสูตรและวิชาพิเศษลูกเสือ
๑.๑  การแต่งตั้งผู้บังคับบัญชาลูกเสือ  ให้เป็นไปปัจจุบันอยู่เสมอ
๑.๒  การขออนุญาตตั้งกองและกลุ่มลูกเสือถูกต้อง
๑.๓  จัดหน่วยลูกเสือถูกต้อง  และมีผู้บังคับบัญชาควบคุมหน่วยลูกเสือครบถ้วน
และควรให้ควบคุมประจำตลอดไป  จนกว่าลูกเสือจะออกจากกองไป เว้นแต่ผู้บังคับบัญชาลูกเสือ
ย้ายสังกัดจึงควรเปลี่ยนหน่วยควบคุม
๑.๔  ดำเนินการฝึกอบรมลูกเสือได้รับเครื่องหมายต่างๆ  ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
๑.๕  จัดทำทะเบียนลูกเสือให้ถูกต้องครบถ้วน
๑.๖  จัดทำรายงานกิจกรรมลูกเสือ  รายงานการเงิน ให้เป็นปัจจุบัน
๒.  จัดทำแผนผู้บังคับบัญชาลูกเสือในเรื่องต่อไปนี้
๒.๑  การฝึกอบรมตามหลักสูตรระดับต่าง ๆ ผู้บังคับบัญชาลูกเสือควรมีวุฒิทางลูกเสืออย่างน้อยขั้นความรู้ชั้นสูง
๒.๒  ควรจัดให้มีผู้บังคับบัญชาลูกเสือ  ที่มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการลูกเสือโดยส่งเสริมให้เข้ารับการฝึกอบรมขั้น  A.L.T.C. , L.T.C. หรือหลักสูตรเฉพาะต่าง ๆ เพื่อเป็นที่ปรึกษาแก่บังคับบัญชาลูกเสืออื่น  ในกรณีที่มีปัญหาในทางปฏิบัติ
๒.๓  จัดการฝึกอบรมนายหมู่และรองนายหมู่ลูกเสือ  เพื่อให้มีศักยภาพในการเป็นผู้นำของหมู่มากขึ้น
๓.  จัดให้มีห้องต่าง ๆ ต่อไปนี้
๓.๑  ห้องประชุมคณะกรรมการดำเนินงานของกอง  โดยจัดห้องให้มีบรรยากาศ
ของลูกเสือให้มากที่สุด
๓.๒  ห้องเก็บอุปกรณ์การฝึกอบรม  โดยมอบหมายให้มีผู้บังคับบัญชาลูกเสือรับผิดชอบ  และจัดระบบการใช้อุปกรณ์ให้มีประสิทธิภาพ และเป็นแบบอย่างแก่ลูกเสือได้
๓.๓  ห้องเกียรติยศของลูกเสือ  เพื่อใช้เป็นที่แสดงผลงานดีเด่นของลูกเสือและผู้บังคับ
บัญชาลูกเสือ  อาจจัดรวมไว้ในห้องประชุมคณะกรรมการดำเนินงานของกองก็ได้
ห้องต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้น ควรเน้นเรื่องความสะอาด  ความเป็นระเบียบเรียบร้อย
และความสวยงาม ตามแบบอย่างลูกเสือ
๔.  จัดทำแผนการจัดหาอุปกรณ์การฝึกอบรมที่จำเป็น  เช่น เชือก อุปกรณ์การเดินทางไกล อุปกรณ์การปฐมพยาบาล  อุปกรณ์การอยู่ค่ายพักแรม ฯลฯ ให้มีจำนวนเพียงพอแก่การฝึกอบรมโดยเร็ว
๕.  จัดทำรายการกิจกรรม   โครงการ ที่สอดคล้องกับทิศทาง  จุดเน้นและคุณลักษณะอันพึงประสงค์นักเรียน  ให้การจัดทำรายการกิจกรรมและโครงการดังกล่าวนอกจากมีรายละเอียดอื่นแล้ว  
ให้กำหนดวิธีการที่จะนำวิธีการของลูกเสือเข้าไปใช้กับกิจกรรมนั้นไว้ด้วย
๖.  ส่งเสริมให้ลูกเสือและผู้บังคับบัญชาลูกเสือเข้าร่วมกิจกรรมของชุมชน  รวมทั้งจัดให้มีการ
ประกาศเกียรติคุณของลูกเสือ  ที่ประกอบคุณงามความดีเป็นประจำทุกปี  และส่งเสริมให้ลูกเสือ ผู้บังคับบัญชาลูกเสือมีโอกาสได้รับเข็มลูกเสือบำเพ็ญประโยชน์  เหรียญลูกเสือสดุดี หรือเหรียญลูกเสือสรรเสริญ แล้วแต่กรณี
๗.  อาจจัดให้มีการประกวดผลงานของแต่ละกลุ่ม หรือกองลูกเสือได้
มาตรการในการนำวิธีการของลูกเสือมาใช้พัฒนาโรงเรียน
๑.  ทำให้หมู่อยู่รวมกันได้
๒.  ทำงานที่ได้รับมอบหมายให้สำเร็จ
ผู้ใดรักแล้วอย่า ดูถูก
ตีสม่ำเสมอผูก จิตได้
ไมตรีจุ่งเร่งปลูก อย่าเริศ  ร้างเลย
เพาะเมตตะจิตไว้ มั่นแล้ว จักสราญ  (พระราชนิพนธ์ รัชกาลที่  ๖)




ไม่มีความคิดเห็น:

เครื่องแบบลูกเสือ การแต่งเครื่องแบบลูกเสือ กางเกง  ชายกางเกงขาสั้น ผ้าผูกคอ     ใช้ผ้าผูกคอตามสังกัด   (เช่น ลูกเสือเขตการศึกษา 8  เช...

ค้นหาบล็อกนี้